จตุพร-ประธานนปช. แจงยาวๆหลังถูกติฉินนินทาว่า ‘เปลี่ยนไป’

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ ที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวี วานนี้(23 ส.ค.63)ว่า วันนี้จะสนทนาในหัวข้อ “ตนเปลี่ยนไปจริงหรือ” เพราะกระบวนการที่ไปปล่อยข่าวด้วยเจตนาอะไรก็แล้วแต่ ได้ใช้วิธีสกปรกกันมากมาย ทั้งที่เนื้อความการต่อสู้ของตน ซึ่งใครผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนถึงเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 และปี 2557 มีอะไรบ้างที่ตนเปลี่ยนไป

นายจตุพร กล่าวว่าการยืนหยัดต่อสู้ในแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ตนได้ขีดเส้นใต้มาตลอดชีวิตและเป็นอุดมการณ์ของ นปช. 6 ข้อ แต่เมื่อไปอธิบายความกันนั้นกลายเป็นเสมือนหนึ่งว่า นายจตุพรเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีการอ้างถึงขนาดว่า เมื่อตนถูกจำคุก มีคนเอาออกมา ตนขอย้ำว่า ตนติดคุกเต็ม 100 % เพราะในระหว่างที่ตนต้องคำพิพากษาจำคุกนั้น ไม่มีพระราชทานอภัยโทษระหว่างนั้น

แต่ที่เป็นประเด็นคือ ตนต้องคำพิพากษา 2 คดีคดีแรกในศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่ในศาลฎีกากลับคำพิพากษา ของศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุก 1 ปี ส่วนคดีที่ 2 ลงโทษจำคุกในศาลชั้นต้น 2 ปี ให้นับโทษต่อจากคดีแรก และในขณะสั่งให้นับนั้นคดีแรกยกฟ้องไม่มีโทษอยู่ข้างหน้า ซึ่งไม่สามารถที่จะไปนับโทษต่อได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้นับโทษต่อ ในขณะที่ตนไม่มีโทษในคดีแรกเพราะศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง

เมื่อในคดีแรกศาลฎีกาพิพากษากลับให้ตนจำคุก 1 ปี คดีที่ 2 ลดโทษมา 12 เดือนพร้อมระบุว่า ที่เหลือให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์ ตนก็ได้ต่อสู้ว่าในขณะที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งให้นับโทษต่อนั้น ตนไม่มีโทษอยู่ข้างหน้า และ ศาลฎีกาไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อ ก็มีการแก้ในการรับโทษที่เรียกว่านับพร้อม หรือนับคร่อม ตั้งแต่วันที่พิพากษาไปจนสิ้นสุดโทษ 1 ปีกับ 15 วัน ดังนั้นจึงไปเหลื่อมกัน 15 วัน ที่ตนต้องพูดเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะมีคนพยายามอธิบายว่า ตนต้องมีการไปแลกเปลี่ยนอะไรกันมากมาย เมื่อออกจากเรือนจำก็เปลี่ยนแปลงไป

แต่ที่เป็นประเด็นคือ หลังจากที่ตนเพิ่งออกจากคุก โจทก์ในคดีนี้ก็ไปร้องต่อศาลชั้นต้นบอกว่าให้นับโทษตนใหม่ ซึ่งศาลชั้นต้นยก แต่ก็ศาลอุทธรณ์กลับบอกให้นับโทษใหม่ ทั้งที่ตนได้ใบบริสุทธิ์มาแล้วพ้นโทษแล้ว และความจริงหลังจากศาลพิพากษานั้นเป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับศาล และ ราชทัณฑ์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับโจทก์แล้ว เพราะคำพิพากษาศาลฎีกาสิ้นสุด แต่ตนเป็นคนแรกของประเทศไทย

นายจตุพร กล่าวต่อว่า ช่วงระหว่างรอฎีกา ตนก็ชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ไปค้นคำพิพากษาของศาลฎีกาย้อนหลังดูว่า พ้นโทษมาแล้ว ให้มีการนับโทษใหม่นั้น มีกรณีตัวอย่างคำพิพากษาในลักษณะเช่นนี้หรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีกรณีตัวอย่างในประเทศไทย นี่จึงเป็นกรณีแรก ซึ่งในขณะนั้นตนจึงหมดที่พึ่งแล้ว ที่ตนบอกว่าจะไปยื่นถวายฎีกาแต่บัดนี้ก็ยังไม่ได้ยื่น ดังนั้นตนถูกจำคุกในคดีนับพร้อมที่เกิดขึ้นทั่วไป เรื่องนี้ก็เป็นการกล่าวหากันโดยเลื่อนลอย แต่ปลายทางตนก็ต้องไปลุ้นกันว่า เรื่องนี้ตนจะเป็นคนแรกของประเทศไทยหรือไม่

ส่วนคดีบ้านสี่เสาเทเวศร์ ผบ.ตร.ในขณะนั้นคือ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ยื่นฟ้อง และอัยการคดีพิเศษยกฟ้อง เมื่อเปลี่ยน ผบ.ตร.เปลี่ยนรัฐบาล ก็มีความเห็นแย้งอัยการ ให้อัยการสูงสุดในขณะนั้นคือ นายชัยเกษม นิติสิริ ปรากฏว่านายชัยเกษม สั่งกลับอัยการของตัวเองให้ไปสั่งฟ้อง โดยคดีนี้อัยการแยกเป็น 2 สำนวน คือ สำนวนเเรกประกอบ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท เหล่านี้

ส่วนสำนวนที่ 2 ประกอบด้วย นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ประธาน นปก.ในขณะนั้น นายจักรภพ เพ็ญแข นายจรัล ดิษฐาอภิชัย พันเอกดร.อภิวันท์ วิริยะชัย และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส่วนที่เหลือเป็นชาวบ้าน แต่กลับมีความพยายามบอกว่านายจตุพร รอดคนเดียวนั้น ตนอยากถามว่ารอดตรงไหน

“ล่าสุดศาลอาญานัดในคดีนี้วันที่ 21 กันยายนนี้ และในคดีนี้ก็รู้กันอยู่ว่ายังไงก็ไม่รอด เพราะคดีในสำนวนแรกตัดสินจำคุก 2 ปี 8 เดือน ตนก็รอเวลาที่จะเข้าคุกเท่านั้นเอง ดังนั้น ความพยายามที่สกปรกและไม่เข้าท่านั้นก็ไปอธิบายแบบชั่วๆ ให้เข้าใจผิด”

รวมถึงก่อนหน้านี้ก็มีสภาพไม่ต่างกันตั้งแต่หลังรัฐประหาร แม้กระทั้งคดีแพ่ง 1 ใน 2 คดีนั้นศาลวินิจฉัยว่านายจตุพร ไม่ได้พูดยุยงปลุกปั่นให้คนเผาบ้านเผาเมือง แต่เนื่องจากเป็นประธาน นปช.ทั้งๆที่ในเวลานั้นเกิดเหตุในปี 2553 แต่ตนเป็นประธาน นปช.ในปี 2557 ให้ชดใช้ค่าเสียหายรวมดอกเบี้ยกว่า 40 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เรื่องกำลังเข้าสู่กรมบังคับคดี รอสืบทรัพย์พิทักษ์ทรัพย์ แล้วก็ล้มละลาย เหล่านี้ตนอยากถามว่าตนรอดอะไร