‘ศรีสุวรรณ’ โวยป่าไม้บุรีรัมย์ปล่อยให้นายทุนโรงโม่หิน ทำถนนตัดป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาอังคาร

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ด้วยมีชาวบ้านในจังหวัดบุรีรัมย์ได้ร้องเรียนมายังสมาคมฯขอให้ตรวจสอบ เนื่องจากมีกลุ่มนายทุนโรงโม่หิน อดีตกำนันในพื้นที่ ได้ทำการสร้างถนนตัดผ่าเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าเขาอังคาร) จากเขตพื้นที่ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ – ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง – ตำบลสะเดา อำเภอนางรอง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 7-10 เมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งหินจากแหล่งสัมปทานไปจำหน่ายในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านเป็นอย่างมาก

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า เป็นไปตามข้อร้องเรียนของชาวบ้านจริง โดยแกนนำชาวบ้านได้ให้ข้อมูลว่า ถนนสายดังกล่าวเพิ่งก่อสร้างขึ้นเมื่อประมาณต้นปี 2563 ที่ผ่านมา โดยที่ชาวบ้านไม่มีใครทราบเลยว่าใครเป็นผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงในการอนุญาต และถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งถนนดังกล่าว สงผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นอันมาก มีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อก่อสร้างถนน และในอนาคตจะทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าได้โดยง่าย เนื่องจากมีการสัญจรที่สะดวก และไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งถนนดังกล่าวมีการถมดินเป็นคันหนา ทำให้ตัดขวางทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ ส่งผลทำให้พื้นที่ป่าด้านล่างของถนนและพื้นที่ทางการเกษตรรอบชายป่าเสื่อมโทม น้ำจากภูเขาไม่สามารถไหลเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตร อ่างเก็บน้ำ หรือที่นาข้าวของชาวบ้านได้

นอกจากนั้น เมื่อมีการก่อสร้างถนนเสร็จได้มีรถบรรทุกหินขนาดใหญ่ วิ่งสัญจรเข้ามาขนถ่ายหินเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว เกิดมลภาวะฝุ่นละอองฟุ้งตลอดทั้งวัน รบกวนวิถีชีวิตของสัตว์ป่าและผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก ซึ่งกรณีดังกล่าวชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมเพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ได้ตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จริง และแจ้งให้ประชาชนทราบ แต่จนบัดนี้เรื่องก็เงียบหาย ไม่มีหน่วยงานใดออกมาชี้แจงหรือแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

พื้นที่ดังกล่าวส่วนหนึ่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เคยมอบหนังสือกำหนดให้เป็นพื้นที่โครงการป่าชุมชนแล้ว คือ ป่าชุมชนตำบลถนนหัก ป่าชุมชนตำบลสะเดา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาอังคาร จ.บุรีรัมย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า โดยที่มีผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ (2) ผู้อํานวยการสํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 8 (นครราชสีมา) เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาอังคาร จ.บุรีรัมย์ และมีอํานาจปฏิบัติการตาม ม.25 แห่ง พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นหน่วยงานทั้ง 2 ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งสมาคมฯจะนำความนี้ไปร้องเรียนต่อ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และ ป.ป.ช.ต่อไป.

'ศรีสุวรรณ' โวยป่าไม้บุรีรัมย์ปล่อยให้นายทุนโรงโม่หิน ทำถนนตัดป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาอังคาร 1
'ศรีสุวรรณ' โวยป่าไม้บุรีรัมย์ปล่อยให้นายทุนโรงโม่หิน ทำถนนตัดป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาอังคาร 2