‘เปลว สีเงิน’ ชำแหละ ‘ตำรวจ-อัยการ’ กับเหตุสลดโดดศาลตาย!

เปลว สีเงิน เขียนบทความเรื่อง ‘’โดดศาลตาย’ บอกอะไรสังคม?’ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 24 ก.ค. 2561 ว่า ลูกถูกแทงตาย……….

ตำรวจทำคดี นำตัวผู้ต้องหาส่งอัยการ อัยการพิจารณาสำนวนคดีแล้ว

ส่งฟ้องศาล

ศาลพิจารณาแล้ว ตัดสิน “ยกฟ้อง”

พ่อคนตายเสียใจ………

โดดจากชั้น ๘ ศาลอาญา ลงมากระแทกพื้นตายคาที่!

ครับ….นั่นเป็นเรื่องเกิดเมื่อวาน (๒๓ ก.ค.๖๑)

บางท่านอาจทราบ บางท่านอาจไม่ทราบ เพราะผู้ตายเป็นสามัญชนด้อยศักดิ์ ย่านแฟลตดินแดง กทม.

ข่าวสารจึงผิวเผิน!

หดหู่-เศร้าพิลึก ผมเข้าใจดี กับชีวิตคนแถกอยู่ในวงจรคดีความ

ไม่ว่าโจทก์หรือจำเลย เมื่อขึ้นศาล ทุกคน “เครียด” ด้วย “ตั้งหวัง” เอาจากกระบวนการยุติธรรม

คำตัดสินศาลจะมี ๓ สถาน คือ มีความผิด, ไม่มีความผิด

และสงสัยในความ “ผิด-ไม่ผิด” จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

“ยกฟ้อง” ปล่อยตัวไป!

ดังนั้น ในคดีหนึ่งๆ เมื่อมีคำตัดสิน จะมีฝ่ายหนึ่งดีใจ อีกฝ่ายเสียใจเสมอ

ที่จะดีใจหรือเสียใจทั้งสองฝ่าย เหมือนผลมวยหรือผลบอลที่ออกมาเสมอ อย่างนั้น ไม่มีในระบบความ

คำที่สังคมจะโจษขาน จากเหตุเมื่อวาน………

“ลูกถูกฆ่าตาย ศาลยกฟ้อง พ่อช้ำใจ โดดตึกศาลลงมาตาย”

คำสรุปนี้ พุ่งตรงไปที่ “กระบวนการยุติธรรม” พร้อมคำถามสังคม

“มันเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร?”

ใช่…มันเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร?

ก็เอาล่ะ เมื่อคำตัดสินศาล เกิดคำถาม แล้วจะไปหาคำตอบที่ยอมรับได้ในเหตุ-ในผลจากที่ไหนล่ะ?

ก็ใน “คำพิพากษา” นั่นแหละ!

“นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล” โฆษกศาลยุติธรรม ออกมาอธิบายความหลังเกิดเหตุ สรุปได้ว่า

คดีนี้ อัยการคดีอาญา ๔ เป็นโจทก์ฟ้อง “นายณัฐพงษ์ เงินคีรี” เป็นจำเลย ฐานฆ่าผู้อื่นฯ

คือเมื่อ ๑๕ เม.ย.๕๙ ช่วงสงกรานต์ บริเวณถนนประชาสังคมสงเคราะห์ ๑ ดินแดง กทม.

นายณัฐพงษ์ใช้มีดปลายแหลมแทง “นายธนิต ทัฬหสุนทร” ตาย แล้วหนีไป

จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี ว่าไม่ใช่ผู้กระทำผิด

เมื่อวาน “ศาลอาญา” มีคำพิพากษายกฟ้อง

เหตุผลที่ยกฟ้อง สรุปว่า ประจักษ์พยานที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์และให้การไว้ในชั้นสอบสวน

ไม่อาจมาเบิกความในชั้นศาลได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างรักษาอาการป่วยทางจิตที่โรงพยาบาล

จึงต้องรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนที่นำส่งในชั้นศาลประกอบพยานหลักฐานอื่น

แต่พยานหลักฐานอื่น ยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยได้

เช่น ภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิด พบว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีผู้คนเป็นจำนวนมาก ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ปรากฏในชั้นศาลนั้น เห็นเเต่เพียงเหตุการณ์ปากทางเข้าซอยที่เกิดเหตุ

เเต่ไม่สามารถบันทึกภาพบริเวณจุดเกิดเหตุไว้ได้

ดังนั้น………

เมื่อศาลพิจารณารอบคอบแล้ว จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง

ครับ…การยกฟ้องนั้น นำสู่เหตุเศร้าดังที่ทราบ

ชาวบ้านส่วนใหญ่ ไม่รู้-ไม่เข้าใจ “ระบบศาล” มากนัก เมื่อคำตัดสินนำไปสู่เหตุเช่นนั้น

แน่นอน……..

ย่อม “เพ่งเล็ง” ไปที่ศาล!

ก็เป็นจุดอ่อน “ทางความรู้” ศาลยุติธรรมน่าใช้กาลที่ประกอบด้วยเหตุ ถือโอกาสอธิบายให้ประชาชนได้รู้ว่า

“ศาลยุติธรรม” นั้น ใช้ระบบกล่าวหา

คือในแต่ละคดี ผู้พิพากษาเป็นแค่ “คนกลาง” ในการรับฟังสู่การตัดสินเท่านั้น

ส่วนจะตัดสินอย่างไร……

มาจาก “พยาน-หลักฐาน” ที่อัยการและทนายของโจทก์-จำเลยไปแสวงหามา

และยกมาต่อสู้กัน หักล้างกันในศาลต่อหน้าผู้พิพากษา

ผู้พิพากษาจะฟังความทั้ง ๒ ฝ่าย

จดบันทึกไว้……..

ไม่ถาม ไม่แสวงหาพยานหลักฐานใดๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ “ทนายโจทก์-จำเลย” นำมาหักล้างกันต่อศาล

ดังนั้น การตัดสินจะเป็นเช่นใด?

ขึ้นอยู่กับ “พยาน-หลักฐาน” สุดแต่ว่า ฝ่ายอัยการ ฝ่ายทนายโจทก์-จำเลย

ฝ่ายไหน………?

จะนำมาแสดงต่อศาลได้ครบถ้วน น่าเชื่อถือมากกว่ากันเป็นหลักใหญ่

พูดกันตรงๆ ในระบบกล่าวหานี้ “ใครผิด-ใครถูก” เป็นเรื่อง “รู้อยู่กับตัวเอง”

แต่ใคร “จะแพ้-จะชนะ”

ขึ้นอยู่กับ “พยาน-หลักฐาน” ที่ฝ่ายโจทก์ รวบรวมนำมาสืบความผิดของจำเลยในศาล

อย่างในกรณีนี้ จะเห็นชัด………..

โจทก์ คือฝ่ายอัยการ ไม่สามารถนำ “ประจักษ์พยาน” ที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์และให้การไว้ในชั้นสอบสวน มาเบิกความในศาลได้

นั่นคือ อัยการไม่มีพยานเลยซักคน ที่จะยืนยันว่า……

นายณัฐพงษ์ เป็นคนแทงนายธนิตตาย ตามที่ตำรวจ สน.ดินแดง ทำคดีส่งอัยการฟ้องต่อศาล

กระนั้น “ผู้พิพากษา” ยังได้ระบุในคำตัดสินว่า

“ต้องรับฟังคำให้การชั้นสอบสวน ที่นำส่งในชั้นศาลประกอบพยานหลักฐานอื่น”

แต่รับฟัง “พยานหลักฐานอื่น” แล้ว……

เช่นภาพจากกล้องวงจรปิด ก็ไปเอาภาพจุดอื่นมาแสดง ส่วนภาพบริเวณที่เกิดเหตุ ก็ไม่มี

ดังนั้น ผู้พิพากษาจึงบอก………

“พยานหลักฐานอื่น” ยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยได้

“ศาลพิจารณารอบคอบแล้ว จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง”

เมื่อเข้าใจตามนี้แล้ว ผู้ควรถูกเพ่งเล็งและต้องตอบคำถามสังคม ก็คือ

-ตำรวจ สน.ดินแดง ผู้ทำคดี และ

-อัยการคดีอาญา ๔ ผู้นำคดีส่งฟ้องศาล

ได้ยินผู้บัญชาการตำรวจนครบาล “พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช” บอก

“ผมจะนำสำนวนทั้งหมดมาดู ทราบแต่ว่าเกิดเหตุที่ สน.ดินแดง เหตุเกิดขณะนั้น ผมยังไม่รับตำแหน่ง ผบช.น. ขอไปดูรายละเอียดก่อน”

ดูแล้ว เรื่องนี้ พูดได้คำเดียว “สงสัยซ้อนสงสัย”?

“สงสัยแรก” อยู่ที่ว่า……….

พนักงานสอบสวนผู้ทำคดีและผู้กำกับ สน.ดินแดงตอนนั้น

มาตรฐานเป็นธรรมด้วยสุจริต-ไม่สุจริต และตั้งใจทำคดีหรือไม่ ขนาดไหนเท่านั้น?

ก็ดูซี เหตุเกิดช่วงสงกรานต์ แทงกันตาย คนเยอะแยะ แต่ตำรวจสืบเสาะพยานที่เห็นเหตุการณ์ได้คนเดียว

แถมเป็น “คนป่วยทางจิต”!?

ซ้ำหลักฐานอื่นที่นำแสดงต่อศาล มีแต่ภาพเหตุการณ์ปากทางเข้าซอยเกิดเหตุ

ส่วนตรง “จุดเกิดเหตุ” ไม่มี

สรุป สำนวนคดีที่ตำรวจทำ ไม่มีพยานหลักฐานอะไรซักอย่างที่ยืนยันให้เชื่อได้ว่า “นายณัฐพงษ์” เป็นผู้ลงมือแทงนายธนิตตาย

นำสู่ “สงสัยที่สอง”

เมื่อตำรวจนำสำนวนส่งอัยการเพื่อพิจารณาสั่งคดี แล้วอัยการผู้พิจารณา ไม่พบ “ข้อที่ไม่สมบูรณ์” ในสำนวน

ที่ต้อง “ส่งกลับ”……

เพื่อให้ตำรวจไปสอบสวนในประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์บ้างดอกหรือ?

หรือว่า แค่ “ประจักษ์พยาน” ป่วยทางจิต คนเดียว

กับภาพกล้องวงจรปิดสะเปะ-สะปะภาพเดียว

ก็เป็น “สำนวนคดีสมบูรณ์” ส่งฟ้องศาลได้แล้ว อย่างที่ทำ?

นี่เป็นประเด็น “สงสัยซ้อนสงสัย” ที่ทั้งตำรวจและอัยการควรมีคำตอบให้สังคม

ลูกถูกแทงตายไปคน พ่อต้องโดดตึกศาลตายตามไปอีกคน ด้วยเหตุจากกระบวนการกฎหมาย

เถอะ…ยังอุทธรณ์-ฎีกาได้ นั่นเรื่องหนึ่ง แต่ในชีวิตจริงชาวบ้านทั่วไป คำถามมีว่า

“ระบบกฎหมาย-กระบวนการยุติธรรม” ได้กระทำแต่ละขั้นตอน

ในการปฏิบัติ…….

โอบเอื้อ-เกื้อกูล ชาวบ้าน ระดับตาสี-ตาสา, ยายมา-ตามี, คนต่ำต้อย-ด้อยศักดิ์ แค่ไหน?

ใช่ว่า ทุกคนจะรู้-จะเข้าใจกฎหมาย ขึ้นศาลแต่ละที เหมือนมีแต่ยักษ์มารจ้องคอยจับคนระดับชาวบ้านกิน

ให้ราย “โดดศาลตาย” นี้ เป็นรายสุดท้ายเถอะ ……..

ส่วนกระบวนการยุติธรรม จะโอบเอื้อ “ตาสี-ตาสา” ที่ต้องขึ้นศาลอย่างคนมีที่พึ่งบ้าง ด้วยวิธีไหน?

ก็ฝากให้คิด.