คอลัมนิสต์อาวุโส ชี้เหตุ ‘ดีอีเอส’ พ่าย ‘ธนาธร’ เพราะ ‘ทนายดีอีเอส’ วังเวง ไร้พยานหลักฐานมาหักล้าง

เว็บไซต์ plewseengern.com เผยแพร่บทความเรื่อง “ที่มา วัคซีนพระราชทาน” เขียนโดย เปลว สีเงิน คอลัมนิสต์อาวุโส และนักเขียนรางวัลอมตะ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ครับ….

กรณีศาลสั่งให้ธนาธรลบคลิปไลฟ์สด “วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ ใครเสีย” ตามที่กระทรวงดีอีเอสร้องขอ ต่อมานายธนาธรร้องคัดค้าน นั้น

เมื่อวาน (๘ ก.พ.๖๔) ศาลมีคำสั่ง สรุป เพื่อความเข้าใจกันง่ายๆ ว่า

ธนาธร “ผู้คัดค้าน” ชนะ

กระทรวงดีอีเอส “ผู้ร้อง” แพ้!

ธนาธรไม่ต้องลบคลิปไลฟ์สดนั้น ไม่ต้องนำออกจากระบบคอมพิวเตอร์

ด้วยเหตุผลใดจึงเป็นเช่นนั้น ก่อนลงรายละเอียด ผมอยากบอกกับทุกท่านว่า

ทุกเรื่อง-ทุกคดีที่ศาลอาญาตัดสิน ก่อนที่ใครจะมีความคิดเห็นหรือวิพากษ์-วิจารณ์ ควรต้องอ่านคำตัดสินนั้นให้เข้าใจก่อน

อย่าพลันด่วนใช้ความรู้สึกและอารมณ์เป็นทัศนคติออกมาตอบสนองคำตัดสินของศาลเป็นอันขาด

ต้องเข้าใจให้ตรง……

อย่างเรื่องนี้ ต้องเข้าใจให้ชัด กระทรวงดีอีเอส ร้องว่าไลฟ์สดนั้น กระทบต่อความมั่นคง และคำว่าวัคซีนพระราชทาน เป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์

ให้ธนาธรลบคลิปและนำออกจากระบบคอมพิวเตอร์

ดีอีเอส ร้องให้ศาลพิจารณาในประเด็นนี้เท่านั้น

ไม่ได้ฟ้องให้ดำเนินคดีอาญาต่อธนาธรด้วยความผิดตามมาตรา ๑๑๒ แต่อย่างใด

ดังนั้น…..

การพิจารณาจะพิจารณาตามกรอบคำร้องเฉพาะ “ลบ-ไม่ลบ” เท่านั้น ไม่มีผลไปถึงธนาธร “ผิด-ไม่ผิด” มาตรา ๑๑๒

“ตั้งสติ-ตั้งใจ” ให้ตรง……

ผมจะนำสาระหลักในคำสั่งศาล ที่ MGR ออนไลน์เผยแพร่มาให้อ่านกัน ค่อยๆ อ่าน ทำความเข้าใจแต่ละประเด็นไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นว่า

ทุกคำวินิจฉัย มีคำอธิบายเป็นที่มา-ที่ไป และมีตัวบทกฎหมายรองรับ บนฐานพยานหลักฐานตามที่โจทก์-จำเลยนำมาแสดงและหักล้างกันชัดเจน

และต้องเข้าใจ…..

ศาลอาญามีหน้าที่รับฟังทั้งสองฝ่าย แล้วพิเคราะห์เป็นคำตัดสินตามพยานหลักฐานที่โจทก์-จำเลยนำมาแสดงเท่านั้น

ฉะนั้น เรื่องนี้ ถ้าถามว่า ดีอีเอส แพ้เพราะอะไร?

ตอบได้เลย ส่วนหนึ่งเพราะ “ทนายผู้ร้อง” เหลี่ยมสู้ฝ่ายธนาธรไม่ได้ ไม่สามารถนำหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหาของธนาธรได้

อ่านและศึกษากันดู เริ่มจากเหตุที่ศาลรับคำร้องคัดค้านของธนาธรไปเลย ดังนี้

-ศาลได้อ่านคำสั่งพิเคราะห์แล้ว คดีมีเหตุให้รับคำคัดค้านไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า

การออกคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยชัดแจ้งและถาวร เมื่อสิ้นสุดกระบวนการแล้วไม่มีโอกาสให้ผู้ใดได้โต้แย้งอีกต่อไป

การอนุโลมใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ถูกต้องแก่คำร้องเช่นนี้ สมควรที่จะรับพิจารณาเสมือนหนึ่งเป็นคดีอาญาคดีหนึ่ง

ซึ่งต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ การให้โอกาสดังกล่าว ยังเป็นหลักการสำคัญสำหรับการทำงานขององค์กรตุลาการตามหลักนิติธรรม

ดังนั้น สำหรับคดีนี้…….

ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 29 ม.ค. 2564 และศาลไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียว แล้วมีคำสั่งในทันที เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ

จึงมีเหตุให้รับคำคัดค้านของผู้คัดค้านไว้เพื่อพิจารณา

-ประเด็นมีเหตุสมควรระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์เรื่องนี้หรือไม่

เห็นว่า เมื่ออ่านถ้อยคำในมาตรา 14 (3) ซึ่งกำหนดความผิดสำหรับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา นั้น

เห็นว่า ถ้อยคำที่ว่า “อันเป็นความผิด” แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้ที่นำข้อมูลซึ่งได้มีการวินิจฉัยโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อมิให้ความผิดตามมาตรา 14 (3) ซ้ำซ้อนกับความผิดประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษสูงกว่าอยู่แล้ว

ดังนั้น เมื่อยังไม่มีการฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้องนี้ให้รับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

จึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉัยตามมาตรา 14 (3) และไม่เข้าเหตุตามมาตรา 20 (1)

-มีข้อพิจารณาต่อไปว่า กรณีตามคำร้องจะเข้าเหตุตามมาตรา 20 (2) หรือไม่

สำหรับการพิจารณาในชั้นนี้…….

ศาลพิจารณาเฉพาะตัวข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเฉพาะข้อมูลนั้นว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงอันสืบเนื่องจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่

การวินิจฉัยคดีนี้……

จึงไม่เป็นการวินิจฉัยว่าผู้ใดจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่

ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องและศาลที่มีเขตอำนาจจักได้พิจารณาต่างหากไป

และเมื่อมีคำพิพากษาให้บุคคลรับผิดทางอาญาแล้ว จึงมีผลให้ศาลอาจสั่งระงับ

-คดีมีข้อพิจารณาคำว่า อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มีความหมายเพียงไร

สมควรต้องแปลความ โดยพิจารณากรอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ซึ่งบัญญัติบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ย่อมมีความหมายว่า การห้ามหรือระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลเป็นข้อยกเว้น การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะทำได้เมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองประโยชน์อันชอบธรรมของรัฐ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็น

จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดและเป็นภาววิสัย การพิจารณาว่า

ข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมด มิใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใด

จากข้อความที่ผู้คัดค้านนำเสนอนั้น

เนื้อหาเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นในเรื่องการกล่าวหารัฐบาลว่าบกพร่องในการจัดหาวัคซีน โดยมีการนำข้อมูลหลายอย่างมาสนับสนุน

ซึ่งมีการบรรยายถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องหลายบริษัท รวมทั้งกล่าวถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นด้วย

ข้อมูลที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ระบุเกี่ยวกับการถือหุ้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อยและไม่ใช่ประเด็นหลักของการนำเสนอ

เมื่อพิจารณาถึงข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะเจาะจง

-ในส่วนแรก เป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

ซึ่งความข้อนี้ ผู้คัดค้านนำสืบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเอกสารราชการและผู้ร้องไม่ได้คัดค้าน จึงฟังว่าเป็นความจริง

ข้อเท็จจริงเพียงว่า……

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือหุ้นบริษัทดังกล่าว มิได้ทำให้เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด

-สำหรับในส่วนที่สอง เป็นส่วนเสริมจากข้อมูลส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่กล่าวหารัฐบาลว่าผิดพลาดในการให้วัคซีนเกือบทั้งหมดถูกผลิตในบริษัทเดียว

การกล่าวอ้างถึงคำถามต่อประชาชนต่อสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งอาจกระทบต่อสถาบันฯ นั้น

ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษ แต่โดยลักษณะของข้อความที่สืบเนื่องกันมา มีลักษณะเป็นการกล่าวหา ว่า

การกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงสถาบันฯ เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่า ความบกพร่องของรัฐบาลเป็นเรื่องร้ายแรง

ด้วยลักษณะของการนำมาอ้างเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบมากขึ้น จึงไม่ได้มีการกล่าวถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท เพราะไม่ได้มุ่งเน้นความรับผิดของบริษัท

คดีนี้ มิใช่การพิจารณาความผิดของผู้คัดค้าน

และจักต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด คือข้อความที่สมควรถูกห้ามนั้น ต้องมีความชัดแจ้งที่จะเป็นความผิด

ซึ่งเมื่อพิจารณาแต่เฉพาะถ้อยคำตามตัวอักษรข้อความที่ผู้คัดค้านกล่าวสืบเนื่องมาทั้งหมดของเรื่องนี้

ยังไม่สามารถเห็นได้อย่างกระจ่างชัดเจน ว่าจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังสถาบันแต่อย่างใด

-ในส่วนการนำเสนอของผู้คัดค้าน มีข้อความหัวเรื่องว่า “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย”

ผู้คัดค้านอ้างว่า เป็นคำพูดที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดทำนองนี้ และหน่วยงานของรัฐบาลเคยใช้คำนี้

ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ผู้ร้องมิได้โต้

ข้อเท็จจริง จึงฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบ ทั้งนี้ แม้ว่าถ้อยคำอาจไม่ตรงกันทั้งหมด

แต่น่าจะแสดงว่า ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้มีการใช้ถ้อยคำที่แสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบการจัดหาวัคซีนแล้ว

การที่ผู้คัดค้านนำข้อความดังกล่าวมานำเสนอ จึงมิใช่ความเท็จ

และลำพังข้อความดังกล่าว หากมิใช่ความเท็จ ก็ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระองค์ จึงไม่ใช่การใส่ความ

เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดแล้ว……..

แม้ว่าผู้คัดค้านจะบรรยายว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

แต่ก็มิได้มีข้อความใด ที่แสดงให้เห็นชัดเจนเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตต่อพระองค์ไม่ว่าในทางใดๆ

จึงไม่มีลักษณะชัดเจนและเห็นได้ในทางภาววิสัยที่แสดงว่าข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด

ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งของศาล ซึ่งย่อมมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ 29 ม.ค. 2564 เป็นอันสิ้นผล และมีคำสั่งยกคำร้อง

ครับ….

อ่านโดยทำความเข้าใจแต่ละประเด็น จะเห็นว่าเรื่องนี้ ศาลแยกแยะเป็นขั้นตอนชัดเจน

ที่ธนาธรอ้าง “วัคซีนพระราชทาน” เป็นคำพูดนายกฯ และศาลบอก “ไม่ใช่ความเท็จ” นั้น เพราะอะไร?

เหตุหนึ่ง เพราะ “ทนายดีอีเอส” นั่งเฉย ทั้งไม่โต้

ทั้งไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างข้ออ้างธนาธรเลย

ถ้าจะวังเวง “ทีมทนายดีอีเอส” นี่แหละ วังเวง!