‘ไอติม’ ผนึก ‘ปิยบุตร’ ปลุกประชาชนรื้อระบอบประยุทธ์ สร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโดยมีเนื้อหาดังนี้

ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ : การแก้รัฐธรรมนูญใดๆ ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าไม่รื้อระบอบประยุทธ์

เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเหมือนถนน 2 เลน ที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน

เลนที่ 1 คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง

เลนที่ 2 คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในส่วนของเนื้อหาที่เป็นปัญหาหรือตกหล่นบกพร่องทางประชาธิปไตย

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายพยายามบีบบังคับให้เราต้องเลือกระหว่างถนน 2 เลนนี้ ระหว่าง “ร่างฉบับใหม่ vs แก้ไขรายมาตรา”

ในความจริงแล้ว เราไม่ควรต้องเลือก แต่ต้องทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันโดยทันที

หากเราขับเคลื่อนแค่การแก้ไขรายมาตรา ปัญหาทั้งหมดจะไม่หายไป เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีปัญหาแค่ในเชิงเนื้อหา แต่ขาดความชอบธรรมจากที่มาและกระบวนการ (เช่น ประชามติที่ไม่เปิดให้ทั้งสองฝ่ายรณรงค์อย่างเท่าเทียมกัน) ประชาชนหลายคนจึงไม่ต้องการเพียงให้ใครมาซ่อมหน้าต่างหรือประตูที่เขาไม่ได้ออกแบบตั้งแต่ต้น แต่เขาอยากมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านหลังใหม่ที่จะเข้าไปอาศัยด้วยกัน

แต่หากเราขับเคลื่อนแค่การร่างฉบับใหม่ กระบวนการนี้อาจใช้เวลาถึง 1-2 ปี เพราะจะต้องจัดประชามติถึง 2 ครั้ง รวมถึงจัดการเลือกตั้ง สสร. ซึ่งหมายความว่า ความวิปริตทางการเมืองต่างๆของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะยังคงอยู่กับเราไปอีกสักพัก (เช่น หากมีการยุบสภา เราจะยังมี ส.ว. 250 คนที่ คสช. แต่งตั้ง มาร่วมเลือกนายกฯ) และ จะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ เหมือนที่ผ่านมา

เหตุการณ์ในรัฐสภาเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้การขับเคลื่อนบนถนนเลนที่ 1 คือการร่างฉบับใหม่ ต้องสะดุดลงไป เพราะความไม่จริงใจของพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. ที่หยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างในการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 (ที่ประกาศว่าจะคว่ำตั้งแต่ก่อนมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา) ความไม่กล้าหาญเพียงพอของพรรคร่วมรัฐบาลในการยืนหยัดให้วาระการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขสำคัญในการไม่ถอนตัวจากรัฐบาล และ ความไม่รับผิดชอบของของนายกฯ ที่มักปัดว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของรัฐสภา ทั้งๆ ที่เราอยู่ในระบอบรัฐสภา (ไม่ใช่ระบอบประธานาธิบดี) ที่นายกฯและสภามีความสัมพันธ์กันโดยโครงสร้าง และ ทั้งที่การแก้รัฐธรรมนูญถูกบรรจุในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ประกาศต่อรัฐสภา

ในระหว่างที่เราต้องกลับมาปัดฝุ่นและเริ่มตั้งหลักกันใหม่สำหรับถนนเลนที่ 1 (ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจนของร่าง พ.ร.บ. ประชามติ) เราในฐานะกลุ่ม Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ จึงเสนอให้เร่งขับเคลื่อนถนนเลนที่ 2 คือการแก้ไขรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นปัญหา

ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายท่านอาจเห็นข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนญรายมาตรา ทั้งของพรรคพลังประชารัฐ (นำโดยคุณไพบูลย์ นิติตะวัน) จำนวน 5 ประเด็น และ ของพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 6 ประเด็น

ผมมองว่าข้อเสนอทั้ง 2 ชุดยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาทางการเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่ เพราะ 2 เหตุผล

  1. ข้อเสนอทั้ง 2 ชุด #ไม่แตะที่ต้นตอปัญหาของรัฐธรรมนูญ

ปัญหาหลักของรัฐธรรมนูญ 2560 และวิกฤตการเมืองปัจจุบัน คือกลไกที่ระบอบประยุทธ์ หรือ คสช. สอดแทรกไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อสืบทอดอำนาจและเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ไม่ว่าจะเป็น วุฒิสภาที่มีอำนาจล้นฟ้าแต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพราะถูกเลือกโดย คสช. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มีที่มาจากการรับรองโดยวุฒิสภาชุดปัจจุบัน หรือ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่ถูกวางไว้เป็นอาวุธลับทางการเมืองเพื่อลงโทษฝ่ายตรงข้ามหากเป็นรัฐบาลและไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ คสช. วางไว้สำหรับ 20 ปีข้างหน้า

ในขณะที่ข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐ เลือกจะไม่แตะเรื่องวุฒิสภาเลย ทั้งๆ ที่วุฒิสภาเป็นศูนย์รวมความวิปริตของการเมืองไทยและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดของการสืบทอดอำนาจ ส่วนข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาล เลือกเพียงแค่ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ โดยไม่ปรับโครงสร้างเพื่อลดอำนาจอื่นที่มีอยู่มหาศาล (เช่น โหวตเรื่องกฎหมายปฏิรูปประเทศ แต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ) หรือ ปรับที่มาให้มีความยึดโยงกับประชาชน (เช่น มาจากการเลือกตั้ง)

  1. ข้อเสนอทั้ง 2 ชุด #มีของแถม ที่เอื้อประโยชน์ตนเอง

ปัญหาที่พรรคการเมืองมีส่วนได้ส่วนเสียเยอะที่สุดคือเรื่องระบบเลือกตั้ง ผมเห็นด้วยว่าระบบเลือกตั้งปัจจุบันมีปัญหา และการใช้บัตร 2 ใบ แทน บัตรใบเดียว จะเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการเลือก ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากคนละพรรค แต่ระบบที่ใช้บัตร 2 ใบหลายระบบ ก็มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน (เช่น ระบบบัตร 2 ใบ ในสมัยรัฐธรรมนูญ 2540 ที่คำนวณคะแนน ส.ส.เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แยกกัน ทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งอาจมีเสียงข้างมากพรรคเดียวในสภา หรือ ระบบบัตร 2 ใบ ของประเทศเยอรมัน ที่ยังคงหลักการว่าพรรคการเมืองจะมี ส.ส. เท่ากับสัดส่วนคะแนนที่ได้ และทำให้โอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เสียงข้างมากในสภา เป็นเรื่องยาก)

แต่แทนที่พรรคการเมือง จะระมัดระวังในการนำเสนอประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้งเพราะอาจถูกมองว่าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเอง ประเด็นนี้กลับเป็นประเด็นแถมที่อยู่ในข้อเสนอทั้ง 2 ชุด

การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราตามข้อเสนอ 2 ชุดนี้ จึงอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างอนาคตที่ดีให้การเมืองไทย เพราะไม่ได้แก้กลไกการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ซึ่งเป็นต้นตอปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 และหากแก้สำเร็จ อาจถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างของฝ่ายรัฐบาลว่าได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ต้นตอของปัญหายังคงยู่

กลุ่ม Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ จึงตัดสินใจเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อปลดอาวุธที่ระบอบประยุทธ์ใช้ในการสืบทอดอำนาจและขัดขวางหนทางสู่ประชาธิปไตย ผ่านแคมเปญ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” เพื่อรวบรวมรายชื่อสนับสนุนและยื่นต่อรัฐสภาตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยมี 4 ประเด็นหลักในร่าง #ล้มโละเลิกล้าง

  1. “ล้ม” วุฒิสภา – เดินหน้าสภาเดี่ยว ด้วยการยุบวุฒิสภา เพื่อกำจัดองค์กรสำคัญที่ระบอบประยุทธ์คัดเลือกเองและใช้ในการสืบทอดอำนาจ เพื่อประหยัดงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และ เพื่อให้โครงสร้างของฝั่งนิติบัญญัติมีความคล่องตัวในการออกกฎหมาย โดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพในการถ่วงดุลรัฐบาล
  2. “โละ” ศาลรัฐธรรมนูญ และ องค์กรอิสระ – ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ เพื่อให้ศาลและองค์กรอิสระเป็นอิสระจาก คสช. เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลมีประสิทธิภาพ และเพื่อเรียกคืนความศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม กระบวนการเลือกตั้ง และกระบวนการป้องกันปราบปรามการทุจริต
  3. “เลิก” ยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนปฏิรูป – ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ เพื่อให้นโยบายของรัฐมีความยืดหยุ่นและก้าวทันโลก เพื่อลดการขยายตัวของรัฐราชการรวมศูนย์แต่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เพื่อทำให้นโยบายไม่ตกอยู่ในมือทหารและกลุ่มทุน และเพื่อกำจัดอาวุธลับของระบอบประยุทธ์ในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม
  4. “ล้าง” มรดกรัฐประหาร – หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย เพื่อเอาทหารออกจากการเมือง เพื่อยกเลิกวัฒนธรรมการใช้อำนาจตามอำเภอใจและการลอยนวลพ้นผิด เพื่อเพิ่มหลักประกันให้ประชาชนและข้าราชการในการต่อต้านรัฐประหาร และเพื่อป้องกันให้การทำรัฐประหารในอนาคตเกิดขึ้นได้ยากเพราะต้นทุนที่คนทำจะต้องจ่าย

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นข้อเสนอเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่เป็นข้อเสนอที่จะนำไปสู่การสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นกลาง” ที่วางกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่เปิดให้มีการแข่งขันกันระหว่างทุกพรรคการเมือง เพื่อกำจัดการผูกขาดทางอำนาจของระบอบประยุทธ์ และเพื่อให้การกำหนดอนาคตของประเทศ ตกอยู่ในมือของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

รายละเอียดของร่างจะมีการอธิบายเพิ่มเติมในงานเปิดตัวแคมเปญ วันที่ 6 เมษายน (ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 4 ปี การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560) โดยจะเป็นวันแรกที่เปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน

ใครที่มาร่วมงานได้และต้องการลงชื่อ พกแค่บัตรประชาชนก็เพียงพอครับ

ส่วนใครที่มาไม่ได้ เราจะเผยแพร่ข้อมูลการร่วมลงชื่อผ่านช่องทางไปรษณีย์ หรือ ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมที่เราจะจัดอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศใน 6 เดือนข้างหน้า

มาร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทยกันครับ

#ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์