ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยชาวนา ทุ่มงบ 9.7 หมื่นล้านดึงข้าวเปลือก 9 ล้านตัน

24 ก.ค.61 – ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานีนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษและยโสธร มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/2562 วงเงินรวม 97,950.48 ล้านบาท จำนวน 3 โครงการ เป้าหมาย 9 ล้านตัน แบ่งออกเป็นวงเงินสินเชื่อ ซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนรวม 35,060 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 62,890.48 ล้านบาท

โครงการแรกคือ สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ หรือรับจำนำยุ้งฉาง โดยแบ่งเป็น 2 โครงการย่อยได้แก่ 1.การจัดสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อรวม 22,560 ล้านบาท ระยะเวลาเก็บรักษาข้าวนาน 5 เดือน โดยรัฐบาลจ่ายค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท ซึ่งสถาบันเกษตรกรต้องจ่ายให้สมาชิกตันละ 500 บาท คิดเป็นเงินที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณจ่ายขาดให้จำนวน 4,088 ล้านบาท

สำหรับราคารับจำนำยุ้งฉาง ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 11,800 บาท, ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 10,200 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 7,500 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 8,900 บาท และ 2.การจ่ายค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไร่ละ 1,500 บาท ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงไม่เกินครัวเรือนละ 12 ไร่ หรือคิดเป็นเงินไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท เพิ่มขึ้น 3,000 บาท จากปีที่ผ่านมา รวมวงเงินจ่ายขาด 57,722 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ก.ย. 2561-30 ก.ย. 2562

ทั้งนี้ เมื่อคำนวณรายได้ที่ชาวนาจะได้รับทั้งการเข้าร่วมโครงการจำนำยุ้งฉางและเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิจะมีรายได้ตันละ 17,050 บาท, ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 15,450 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 12,000 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 12,900 บาท

โครงการที่ 2. คือสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร รับผิดชอบโครงกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และธ.ก.ส. เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูปมีเป้าหมาย 2 ล้านตัน รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ส่วนสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย 1% มีเงินหมุนเวียนเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 12,500 ล้านบาทและเงินจ่ายขาดสำหรับชดเชยดอกเบี้ย 507 ล้านบาท

และโครงการที่ 3 คือการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ซึ่งโรงสีจะต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรเก็บไว้เป็นระยะเวลา 2-6 เดือน เป้าหมาย 5 ล้านตัน และเป็นเงินจ่ายขาดจำนวน 572 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าทั้ง 3 โครงการจะช่วยดึงข้าวเปลือกออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกมามากได้จำนวน 9 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังกำกับดูแลเงินหมุนเวียนในส่วนของสินเชื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเคร่งครัดและไม่ก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณเพิ่มเติมจากวงเงินที่ครม. อนุมัติไว้ รวมทั้งให้ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีติดตาม และตรวจสอบโครงการให้เกิดความ และรายงานความคืบหน้าทุกๆ 3 เดือน