ประเดิมค่ายใหม่ ‘เรืองไกร’ ขู่ ‘พิธา’ ตัดงบขัดมาตรา 144 เตรียมยื่น ‘ชวน’ ตักเตือน ส.ส.ในสภา

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซึ่งเพิ่งตกเป็นข่าว ย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และได้รับเลือกเป็นโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 เปิดเผยว่า เห็นข่าวเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. และ 6 มิ.ย. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับการจะปรับลดงบประมาณปี 2565 แล้ว รู้สึกไม่สบายใจ และคงจะต้องเตือนด้วยความหวังดีตามเนื้อข่าว นายพิธาตั้งใจทำงานดี โดยจะใช้ฐานะกรรมาธิการฯ คนหนึ่ง ปรับลดงบประมาณออกจำนวนหนึ่ง และจะนำงบประมาณที่ปรับลดไปใช้อย่างนั้นอย่างนี้ รายละเอียดปรากฏทั้งในข่าวและในเฟซบุ๊กไปแล้วนั้น การกระทำดังกล่าวของนายพิธา มีสองส่วน ส่วนหนึ่งทำได้ แต่อีกส่วนหนึ่งทำไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144

ส่วนที่ทำได้คือ ส.ส. หรือกรรมาธิการ ทำการปรับลดงบประมาณได้ ยกเว้นเฉพาะบางรายการที่ห้ามไว้ ส่วนที่ทำไม่ได้คือ การปรับลดงบประมาณที่มีผลทำให้ ส.ส. หรือ กมธ.มีส่วนในการใช้งบประมาณ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม จะกระทำมิได้ สิ่งที่นายพิธา คิดและจะทำในส่วนที่สอง คือ อ้างว่าจะนำงบประมาณที่ปรับลดไปใช้อย่างนั้นอย่างนี้ จึงทำไม่ได้ กรณีนายพิธา ถือเป็นความผิดที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่เกิดการกระทำตามมา ประกอบกับ กรรรมาธิการฯ มีทั้ง ส.ส. และคนที่ไม่ใช่ ส.ส.

“ดังนั้นเพื่อให้เกิดความระมัดระวังมิให้มีการฝ่าฝืนมาตรา144 จึงเห็นว่า ควรนำเรื่องนี้แจ้งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเตือน ส.ส. ในสภา และอีกทางหนึ่ง ก็แจ้งให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกรทะรวงการคลัง แจ้งเตือนในที่ประชุม กมธ.งบฯ ในช่วงบ่ายวันนี้จะยื่นหนังสือให้ประธานสภาฯ เพื่อดำเนินการแจ้งเตือน ส.ส. ต่อไป”นายเรืองไกร ระบุ

สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 บัญญัติไว้ว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้

(2) ดอกเบี้ยเงินกู้

(3) เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย

ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอการแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้

ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระท าที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาให้ผู้กระทำการนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการหรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติและให้ผู้กระทำการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย

เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือหรือมีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ ให้พ้นจากความรับผิด

การเรียกเงินคืนตามวรรคสามหรือวรรคสี่ ให้กระทำได้ภายในยี่สิบปีนับแต่วันที่มีการจัดสรรงบประมาณนั้น

ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับแจ้งตามวรรคสี่ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน หากเห็นว่ากรณีมีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการต่อไปตามวรรคสาม และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและศาลรัฐธรรมนูญหรือบุคคลใดจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งมิได้