‘ปิยบุตร’ ลอกคราบ ‘ปฏิวัติ’ ภายใต้วิกฤตการณ์ ‘เสรีนิยมใหม่’

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟชบุ๊กมีเนื้อหาดังนี้

ความไม่แน่นอนในการปฏิวัติ

ประเด็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของทุกการปฏิวัติ คือ ความไม่แน่นอนของการปฏิวัติ

ไม่มีใครทราบว่า การกระทำนี้ การลงมือปฏิบัติการนั้น จะกลายเป็น “ปฏิวัติ” หรือไม่ จะส่งผลลัพธ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หรือไม่

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า การลงมือปฏิบัติการนี้ การกระทำนั้น จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

ความไม่แน่นอนชัดเจนเหล่านี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติการ ผู้ก่อการทั้งหลายจำเป็นต้อง “ประเมิน” สถานการณ์อย่างรอบด้านว่า ณ เวลานั่นๆ สถานการณ์ทางภาววิสัยสุกงอมถึงพร้อมหรือไม่ ความคิดจิตใจทางอัตวิสัยของผู้ปฏิบัติการผู้ก่อการถึงพร้อมแล้วหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การประเมินเช่นว่านั้นก็ไม่มีวันถูกต้องแน่นอน ต่อให้ศึกษาประวัติศาสตร์ปฏิวัติทั่วโลก พิจารณาเปรียบเทียบ ถ่องแท้ทางทฤษฎี ใช้ประสบการณ์มากมีตลอดชีวิต ก็ไม่มีใครยืนยันได้ร้อยละร้อยว่า การกระทำหนึ่งจะนำมาซึ่งผลอย่างไร

เหตุการณ์ปฏิวัติสะเทือนโลกในหลายกรณี ทำให้อนุชนคนรุ่นหลังศึกษาแล้วก็สรุปว่า เหตุการณ์นี้เหตุการณ์นั้น คือช่วงเวลาปฏิวัติ คือจุดเปลี่ยน แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันคือการประเมิน “หลังเหตุการณ์” หรือ “après coup” นักประวัติศาสตร์นิพนธ์นำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการกระทำไปประเมินว่าการกระทำนั้นก่อให้เกิดอะไรตามมา

ดังนั้น การปฏิวัติ ที่ประกอบไปด้วย การกระทำที่เป็นการรื้อถอนทำลาย + การกระทำที่เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ จึงเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ และเราไม่มีทางรู้แน่ชัดร้อยละร้อยว่า การกระทำหนึ่งจะส่งผลให้เกิดอีกการกระทำหนึ่งหรือไม่ การกระทำนี้จะกลายเป็นการรื้อถอนและนำมาสู่การสร้างสรรค์ใหม่หรือไม่

ภายใต้วิกฤตการณ์ “เสรีนิยมใหม่” ปรัชญาเมธีจำนวนมากหันกลับไปหา anarcho-marxiste กันมากขึ้น

ผมได้หนังสือเล่มใหม่มา พึ่งออกมาเมื่อไตรมาสที่สองของปีนี้ ชื่อ “Pour un anarchisme révolutionnaire” ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนโดยเจาะจง แต่ใช้ชื่อกลุ่มว่า Collectif Mur par Mur

มีบทหนึ่งเขาพูดถึงเรื่องเหล่านี้ ผมคัดมาบางส่วน ดังนี้

“ถ้าการปฏิวัติตั้งอยู่บนการรื้อถอนทำลาย การกระทำนี้ก็จะพาเราไปสู่ควาไม่แน่นอนในผลลัพธ์ของการปฏิวัติและความเป็นไปได้ในการสร้างสิ่งใหม่

ในความเป็นจริงแล้ว เราประเมินผลลัพธ์ของการปฏิวัติและผลกระทบของมันได้ก็เมื่อ “หลังเหตุการณ์” เท่านั้น กล่าวให้ขัดขึ้น ก็คือ มีเพียง “หลังเหตุการณ์” เท่านั้นที่จะยืนยันได้ว่ามีการปฏิวัติหรือไม่ เพราะ จังหวะสองหลังจากนั้นต่างหากที่จะบอกเราว่าการทำลายล้างในจังหวะแรกได้พาเราเปิดประตูไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่เคย
เกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่

ดังนั้น การกระทำจึงเป็นเหตุการณ์อันจำเป็นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นเดิมพันด้วย แม้ว่าผลลัพธ์ของมันไม่แน่นอน และต้องประเมินกันหลังเหตุการณ์ แต่มันก็เป็นประจักษ์พยานต่อจุดยืนของเรา แรงปรารถนาของเรา จริยศาสตร์ของเรา

มันอยู่ในจุดตัดของสองห้วงเวลา หนึ่ง คือ การคาดการณ์ อีกหนึ่ง คือ หลังเหตุการณ์ และระหว่างสองห้วงนี้ไม่อาจดำรงอยู่ได้ หากปราศจากซึ่งแรงปรารถนาของเราในการลงมือทำและพูด”

Collectif Mur par Mur, « Pour un anarchisme révolutionnaire », L’échappée, 2021, pp.132-133.