
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คดีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของกลุ่มแกนนำม็อบคณะราษฏร 63 ที่ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งจัดชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง10 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองอันมีประมหากษัตริย์เป็นประมุข
ล่าสุดเมื่อช่วงค่ำ 12 พ.ย.2564 พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” แกนนำกลุ่มราษฎร ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คดีตามความผิดมาตรา 112 ได้ส่งแถลงการณ์ โพสต์ลงในเฟซบุ๊กเพจ “เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” โดยมีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์ 5 ข้อจากเรือนจำถึงศาลรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง ข้าพเจ้าจึงขอแถลงจุดยืน 5 ข้อถึงศาลรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้
- คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ไม่มีความชอบธรรมที่จะวินิจฉัยคำร้องนี้ตั้งแต่แรกเพราะไม่มีความยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทั้งยังได้รับการแต่งตั้งโดยเครือข่ายเผด็จการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของประชาชนผู้เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่อาจเป็นคนกลางที่ชี้ขาดคำร้องได้
- การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ขมีขมัน วินิจฉัยให้การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่กลับเพิกเฉยต่อการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพวก ใช้กำลังล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2557 นั้น เป็นเรื่องย้อนแย้ง… ทั้งยังเป็นข้อพิสูจน์ว่าศาลรัฐธรรมนูญปราศจากความเป็นกลาง ไร้ซึ่งความน่าเชื่อถือ..
- การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง เพราะข้อเรียกร้อง 10 ข้อนั้นล้วนเป็นไปเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างามยิ่งขึ้น และหลายข้อก็เคยได้ใช้จริง และถือเป็นธรรมเนียมประเพณีการปกครองด้วยซ้ำ เช่นข้อที่ 10 ที่เรียกร้องให้ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก ควรต้องถือว่าเป็นการปกป้องการปกครอง มิใช่การล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด
- คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เต็มไปด้วย…ให้เหตุผลจับแพะชนแกะและใช้ข้อมูลที่บิดเบือน คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง อาทิ การอ้างถึงเจตนารมณ์ของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 นั้น สะท้อนให้เห็นว่าคณะตุลาการมิได้มีความเข้าใจในเจตนารมณ์ของคณะราษฎรเลยแม้แต่น้อย หรือไม่เช่นนั้นก็จงใจบิดเบือนเจตนารมณ์เพื่อทางการเมืองของตน
- การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงแล้ว ยังเป็นการละเมิดหลักการของรัฐธรรมนูญที่ว่า “ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแล้ว หากประชาชนมีมติ จะให้มีการแก้ไขสิ่งใดในประเทศ สิ่งนั้นย่อมต้องถูกแก้ไข ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสถาบัน องค์กร หรือโครงสร้างใดๆ การวินิจฉัยที่เกิดขึ้นจึงเรียกได้ว่า เป็นการไม่ให้ความเคารพต่ออำนาจของประชาชน
คำวินิจฉัยที่ศาลได้อ่านเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเป็นคำวินิจฉัย “อัปยศ” การบวนการทั้งหมดเป็นเสมือนปาหี่การเมือง…
ข้าพเจ้าเชื่อว่าประชาชนจะร่วมกันจดจำชื่อของคณะตุลาการเหล่านี้คือ
- นายวรวิทย์ กังศศิเทียม (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ)
- นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
- นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
- นายปัญญา อุดชาชน
- นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
- นายวิรุฬห์ แสงเทียน
- นายจิรนิติ หะวานนท์
- นายนภดล เทพพิทักษ์
- นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
และประชาชน จะร่วมกันตัดสินพวกเขาในวันที่ชัยชนะเป็นของประชาชน
พริษฐ์ ชิวารักษ์
เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
12 พฤศจิกายน 2564