‘เนติวิทย์’ ส่อพ้นสภาพนิสิต ‘ศิษย์เก่าจุฬา’ ยื่นผู้ตรวจฯ ฟันผู้บริหารจุฬาฯหย่อนยาน!

วิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปปท.) และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 30 โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีรายละเอียดดังนี้

รีบอ่านรีบแชร์ก่อนโดนยิงล่มนะคะ ตอนนี้ไทม์ไลน์ในไลน์ก็โพสต์ไม่ได้แล้วค่ะโดนยิงเรียบร้อย ในเฟซไม่ทราบจะโดนไหม….

“….คำแถลงล่าสุดของนายเนติวิทย์ ที่ข้าพเจ้ายื่นเพิ่มเติมมานี้นั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่ไม่ควรมองข้ามหรือคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะไม่เพียงแต่ขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย และระเบียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต ที่สำคัญที่สุดคือเป็นแบบบอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนไทย

ตามระเบียบวินัยนิสิตนั้น นิสิตที่ทำความผิด ๖ ครั้ง จะต้องพ้นสภาพการเป็นิสิต ถ้าพิจารณาจากการกระทำที่ท้าทาย ไม่เหมาะสมของนายเนติวิทย์ ที่อาจเข้าข่ายผิดระเบียบ ว่าด้วยวินัยนิสิต ดังข้าพเจ้าได้เคยยื่นประกอบเป็นข้อมูลมายังสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินมาก่อนหน้าบ้างแล้วจนถึงปัจจุบัน นับรวมกันก็เกิน ๖ ครั้ง…”

วันนี้ข้าพเจ้าได้ยื่นข้อมูลเพิ่มเติม (ครั้งที่ ๔) ไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีที่ข้าพเจ้าและคณะได้ร้องเรียนอธิการบดี นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ และผู้บริหารจุฬาฯ ดังนี้

ขอยื่นข้อมูลเพิ่มเติมในการร้องเรียนอธิการบดี นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ และผู้บริหารจุฬาฯ จากกรณีที่นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้โพสข้อความเป็นคำแถลงทางเฟซบุ๊คส่วนตัว ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๔๐ น. ที่ลิงค์ https://www.facebook.com/100044481967434/posts/425029872323075/

และได้โพสไฟล์ภาพที่มีข้อความเนื้อหาตรงกับที่โพสด้วยการพิพมพ์ อีก ๑ ภาพ ซึ่งข้าพเจ้าได้แนบมาพร้อมกันนี้

การกระทำของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ดังกล่าว น่าจะขัดต่อระเบียบ จุฬางกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิตดังนี้:

ข้อ ๕ นิสิตต้องปฏิบัติตามหลักศีลธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมอันดีของสังคมไทยในทุกโอกาส

ข้อ ๖ นิสิตต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคี ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และชื่อเสียงเกียรติคุณของ มหาวิทยาลัย

ข้อ ๑๒ นิสิตต้องไม่นำขนบธรรมเนียมประเพณี วิธีการอันไม่เหมาะสมต่อวัฒนธรรมไทยมาปฏิบัติ

ข้อ ๑๓. นิสิตต้องไม่ดำเนินกิจกรรมใดๆ อัน เป็นการขัดต่อกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือ คำสั่งของมหาวิทยาลัย หรือคณะ

ข้อ ๑๔ นิสิตต้องไม่มีหรือจัดพิมพ์สิ่งวาดสิ่งเขียนหรือกล่าวถ้อยคำหรือกระทำการอื่นใดอันอาจจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือมหาวิทยาลัย

คำแถลงล่าสุดของนายเนติวิทย์ ที่ข้าพเจ้ายื่นเพิ่มเติมมานี้นั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่ไม่ควรมองข้ามหรือคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะไม่เพียงแต่ขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย และระเบียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต ที่สำคัญที่สุดคือเป็นแบบบอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนไทย

ตามระเบียบวินัยนิสิตนั้น นิสิตที่ทำความผิด ๖ ครั้ง จะต้องพ้นสภาพการเป็นิสิต ถ้าพิจารณาจากการกระทำที่ท้าทาย ไม่เหมาะสมของนายเนติวิทย์ ที่อาจเข้าข่ายผิดระเบียบ ว่าด้วยวินัยนิสิต ดังข้าพเจ้าได้เคยยื่นประกอบเป็นข้อมูลมายังสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินมาก่อนหน้าบ้างแล้วจนถึงปัจจุบัน นับรวมกันก็น่าจะเกิน ๖ ครั้ง ดังนี้:

๑. นัดหมายให้ โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งขณะนั้นได้ถูกศาลอุทธรณ์ของฮ่องกงพิพากษาจำคุกและตัดสิทธิทางการเมือง ฐานเป็นผู้นำหรือยุยงให้มีการชุมนุมอย่างผิดกฎหมายในฮ่องกง และเป็นผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มากล่าวปาฐกถาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในงาน รำลึก ๔๐ปี ตุลา ๒๕๕๙ โดยมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า แต่โจชัว หว่อง ถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกักตัวไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิและถูกปฏิเสธการให้เข้าประเทศไทย พร้อมกับส่งตัวกลับฮ่องกง

๒. เดินออกกลางพิธีฯ วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๐ ในงานถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่ประจำปี ๒๕๖๐ ที่พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๓. ให้บุคคลภายนอก คือ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง กระทำการต่อต้านดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเป็นผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา ๑๑๒ มาอบรมปฐมนิเทศนิสิตใหม่ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๔. จัดทำหนังสือปฐมนิเทศน์นิสิตใหม่ ๒๕๖๔ Freshy the Journey เปิดประตูสู่จุฬาฯ โดยมีภาพและเนื้อหาที่ไม่สมควร (เอกสารแนบการร้องเรียนผู้ตรวจการฯ ครั้งที่ ๑) เสมือนเป็นการล้างสมองนิสิตใหม่ที่กำลังจะเข้ารับการศึกษาให้ไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ต่อต้านประเพณีอันดีงาม ตลอดจนกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย หนังสือเล่มนี้จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งภายนอกและภายในจุฬาฯ และถูกระงับการเผยแพร่ไปช่วงหนึ่ง แต่ขณะนี้มีการผลิตขายเล่มละ ๑๙๙​ บาท

๕. ชี้นำนิสิตในทางที่ขัดต่อระเบียบวินัยจุฬาฯ เช่นการรณรงค์ให้นิสิตไม่ต้องใส่เครื่องแบบนิสิตตามระเบียบ ทั้งที่นิสิตใหม่ทุกคนจะต้องทราบและควรใคร่ครวญก่อนที่จะเข้าศึกษาว่า เมื่อเข้ามาเป็นนิสิตในรั้วจุฬาฯ ก็จะต้องใส่เครื่องแบบนิสิตตามที่กำหนดไว้ในระเบียบวินัยนิสิต ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็จะถือว่าทำผิดระเบียบฯ วินัยนิสิตข้อ ๙ กล่าวคือ นิสิตต้องแต่งกายให้ถูกต้องตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ เมื่อเข้ามาในบริเวณมหาวิทยาลัย และถ้าไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ก็มีโทษตัดคะแนนความประพฤติ ดังนั้นถ้าไม่เห็นด้วย ก็ไม่ควรเข้ามาศึกษาที่จุฬาฯ ตั้งแต่แรก การที่เนติวิทย์ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ จึงควรจะนับเป็นการกระทำที่ผิดวินัยนิสิตด้วยเช่นกัน

อนึ่งการอ้างว่าระเบียบประเพณีต่างๆ ที่จุฬาฯ เคยปฏิบัติมาก่อนเป็นเรื่องล้าสมัย สมควรปรับแก้ไขให้ทันต่อสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เรื่องที่กระทำไม่ได้ แต่การกระทำนั้นควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล ด้วยกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม เฉกเช่นที่ปัญญาชนควรกระทำ

๖. ออกแถลงการณ์ “ยกเลิกประเพณีกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์” ทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจในกิจกรรมดังกล่าว

๗. จัดทำหนังสือดิจิทั่ล “ปิยมหาประชานุสรณ์” เนื่องในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๔ ซึ่งหลังจากถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าอาจจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ หรือล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรค ๑ ต่อมาไม่นานหนังสือนั้นก็ไม่ปรากฏอีกในทุกช่องทาง แม้ลิงค์ที่เคยโพสไว้ก็กลายเป็นลิงค์เสีย (ยื่นไฟล์หนังสือประกอบการร้องเรียนครั้งที่ ๓ แล้ว)

๘. ท้าทายอธิการบดีและผู้บริหารจุฬาฯ หลายครั้ง ออกแถลงการณ์หรือคำแถลงที่มีเนื้อหาในทางที่ประนามด่าว่าด้วยถ้อยคำที่ก้าวร้าว รุนแรง จนถึงหยาบคาย คำแถลงของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นั้น ข้าพเจ้าอ่านแล้วรู้สึกได้ถึงความเกลียดชังที่ขุดออกมาจาก”อนุสัยกิเลส” (เป็นคำศัพท์ในทางพระพุทธศาสนาที่อธิบายถึงกิเลสในใจปุถุชนผู้ไม่ได้ขัดเกลาตนเอง มีความหมายแปลว่า “กิเลสที่นองเนื่องอยู่ในขันธสันดาน”) เป็นที่สุดของความต่ำกว่ามาตรฐานและหยาบ จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นคำแถลงของผู้ที่เคยได้รับการอบรม มีการศึกษา

ตัวอย่างที่ได้ยกมาข้างต้นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าและคณะเห็นว่า อธิการบดี นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ และผู้บริหารจุฬาฯ ขาดวิสัยทัศน์ หย่อนยานในการบริหารจัดการ ไม่มีความสามารถในการเป็นผู้นำที่ดีพอที่จะสืบสานปณิธาน และรักษากฏ ระเบียบวินัยและประเพณีอันดีงามของจุฬาฯ ไม่สอดส่องดูแลติดตามป้องกันความประพฤตินิสิตที่มีแนวโน้มจะกระทำการที่ไม่เหมาะสม ทำผิดระเบียบวินัย และ/หรืออาจผิดกฎหมายถึงขั้นล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ อยู่เนืองๆ

สโลแกนของสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เคยใช้อยู่ได้หายไปจากหน้าเว็ปไซต์ทางการ คือประโยคว่า ” ความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม” ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะนำสโลแกนดังกล่าวมาติดไว้ที่หน้าประตูทางเข้าสำนักงานฯ และบนเว็ปไซต์ด้วย เพื่อที่จะได้ย้ำเตือนว่านี้เป็นสำนักงานที่ทำงานด้วยความเที่ยงธรรม และไม่ล่าช้า เพราะตั้งแต่สโลแกนหายไป ดูเหมือนว่าการทำงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะล่าช้าเป็นอย่างมาก จนเกรงว่า กว่าถั่วจะสุก งาก็จะไหม้เสียก่อน และยิ่งเนิ่นนานออกไป ก็อาจมีประเด็นใหม่เกิดขึ้นแทบจะรายวัน ทำให้ข้าพเจ้าและคณะอาจจะต้องยื่นเรื่องร้องเรียนเพิ่มเติมสมทบเข้ามาอีกเรื่อยๆ เป็นดินพอกหางหมู

ไม่เพียงแต่ข้าพเจ้าและคณะ ที่กำลังเฝ้ารอคำวินิจฉัย แต่ประชาชนทั่วไปจำนวนมาก ก็ให้ความสนใจเช่นกัน จึงขอให้กำลังใจท่านผู้ตรวจการแผ่นดิน นายนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ในการทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ เพื่อลูกหลานเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติ และเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่สามารถปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้แล้วไซร้ ไม่ตัดไฟเสียแต่ต้นลม ก็เกรงว่าในอนาคต ประชาชนทั่วไปคงจะหมดหวังกับการยื่นเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐ มายังท่านผู้ตรวจการแผ่นดิน

ข้าพเจ้าและคณะ จึงขอเพิ่มข้อมูลการยื่นร้องเรียนอธิการบดี นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ และผู้บริหารจุฬาฯ หากท่านคิดว่าข้อมูลที่ข้าพเจ้าและคณะส่งมานี้ ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปคำวินิจฉัยได้ ข้าพเจ้าและคณะยินดีให้ความร่วมมือในการส่งข้อมูลเพิ่มเติมหรือเข้าพบท่านเพื่อชี้แจงด้วยตนเองตามสมควร

วิรังรอง ทัพพะรังสี
เขียนในนามผู้ร้องเรียนและคณะ
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔