‘วรงค์-โรม’ งานนี้อยู่อยู่ฝ่ายเดียวกัน ตกเป็นจำเลยถูกฟ้องคนละ 100 ล้าน กรณีดาวเทียมไทยคม

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์หมายศาล คดีแพ่ง พร้อมข้อความระบุว่า #ฟ้องผมร้อยล้าน

ก่อนหน้านี้ การต่อสู้เพื่อปกป้องสถาบัน ผมถูกนายธนาธร และพรรคก้าวไกลฟ้อง คดีละ 24,062,475 บาท สองคดีก็เกือบ 50 ล้านบาท

ล่าสุดมาต่อสู้เรื่องทวงคืนดาวเทียมไทยคม เพิ่งได้รับหมายศาล จากบริษัทกัลฟ์ ฟ้องผม 100 ล้านบาท

ต้องขอบคุณโจทก์ทุกท่านครับ ที่ช่วยเติมพลังให้ผม ในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ

ประเทศยังต้องเผชิญทั้งทุนล้มล้าง และทุนที่จ้องเอาแต่ได้ คนที่ลำบากที่สุดก็คือประชาชน แต่ไม่ต้องกลัวนะครับ

ผมยังมีพลังที่จะไปปรับรื้อหลายอย่าง เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศครับ

ก่อนหน้านี้ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนถึงกรณีที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ฟ้องคดีต่อพรรคก้าวไกล และผม สืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีดาวเทียมไทยคม ที่ผมได้อภิปรายต่อคุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา”

โดยการฟ้องดังกล่าวมี 3 คดีด้วยกัน คือ

  1. ฟ้องพรรคก้าวไกลในฐานะผู้เผยแพร่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนั้น ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
  2. ฟ้องผมในฐานะผู้อภิปรายและนำสิ่งที่อภิปรายมาเผยแพร่ต่อ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาเช่นเดียวกัน
  3. ฟ้องละเมิดเป็นคดีแพ่งต่อผม เรียกค่าเสียหายมูลค่า 100 ล้านบาท

ผมไม่ใช่คนแรกที่ถูกฟ้องในลักษณะนี้ โดยก่อนหน้านี้ บริษัท กัลฟ์ ก็เคยฟ้อง นางสาวเบญจา แสงจันทร์ เพื่อน ส.ส.จากพรรคก้าวไกล จากกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องนโยบายพลังงานและการให้สัมปทานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ผมขอเรียนว่าสิ่งที่ผมและพรรคก้าวไกลพยายามทำในบทบาทหน้าที่ของฝ่ายค้าน ก็คือ การตรวจสอบรัฐบาล โดยส่วนตัวผมเมื่อถูกฟ้องมาก็จะต่อสู้คดีต่อไป ทว่า เมื่อมองถึงประโยชน์ต่อสาธารณะแล้ว หากมีเรื่องแบบนี้ถือปฏิบัติกันเรื่อยไปแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในเวทีสำคัญอย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยฝ่ายค้าน หากไม่อาจพาดพิงต่อบุคคลภายนอกได้แล้ว ก็แทบจะไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลได้เลย เพราะไม่ว่าจะในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ความผิดพลาดในเชิงนโยบาย หรือการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของรัฐบาล การกระทำเหล่านี้ล้วนต้องเกี่ยวพันกับบุคคลภายนอกทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพาดพิงบุคคลภายนอกด้วย แต่ถึงที่สุดแล้วการอภิปรายไม่ไว้วางใจของเรายังคงมุ่งเป้าไปที่รัฐบาลเป็นสำคัญ”