นักเรียนนอก (คอก) ผู้เห็นขี้ดีกว่าไส้

ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เผยแพร่บทความ เรื่อง #นักเรียนนอก (คอก) #ผู้เห็นขี้ดีกว่าไส้ มีเนื้อหาดังนี้
.
1) รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขโดยนักการเมือง ก็ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว (เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ อย่างที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว) เราก็ต้องรอกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งกับกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้งหมดทั้งปวง ผลของการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูกฉบับใหม่ทั้ง 2 ฉบับนั้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์แสดงให้โลกได้เห็นว่า การเมืองไทยมันจะพัฒนาขึ้นหรือว่ามันจะเลวลง อันจักเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นักการเมืองและประชาชนผู้มีและใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยมีคุณภาพสูงขึ้นหรือต่ำลง ถ้าเกิดเผด็จการรัฐสภาอย่างที่เคยเกิดขึ้นหลังการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ขึ้นมาอีกก็แสดงว่าการเมืองของเรามันเลวลง กล่าวคือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถกลั่นกรองเอาคนดีเข้าสภาได้มากกว่าคนไม่ดี ถ้าประชาชนเห็นแก่เงินยอมขายเสียง นักการเมืองเห็นแก่เงิน (ยอมขายตัว) มากกว่าอุดมคติและผลประโยชน์ของประชาชน การเมืองก็จะเลวลง การโกงกิน คอรัปชั่น ก็จะมีมากขึ้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมก็จะทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะการเมืองชั่วร่วมกับราชการชั่วจะเป็นตัวถ่วงและขัดขวางความเจริญในทุกๆ ด้าน นี่คือการมองในแง่ร้าย (เพราะมันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว) แต่อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ ถ้าทั้งประชาชนและนักการเมืองยังจำความผิดพลาดในอดีตได้ และไม่หน้าด้านทำซ้ำอีก ทุกอย่างอาจจะดีขึ้นก็ได้ ใครจะไปรู้ ก็ต้องรอดูกันต่อไป
.
2) เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับแก้ไขโดยนักการเมือง (เพียงไม่กี่มาตรา) ได้ถูกประกาศใช้บังคับแล้วก็ทำให้หวนคิดถึง ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนแสนกว่าคนที่ถูกรัฐสภาคว่ำไปเรียบร้อยแล้วนั้น ถ้าสมมุติว่าประเทศไทยเกิดมีรัฐธรรมนูญเช่นว่านั้นขึ้นมาจริงๆ เราก็จะมีเพียงสภาเดียวที่มีอำนาจเหนือองค์กรอิสระและสถาบันศาลทั้งมวล มันก็จะเกิดความหายนะไม่แตกต่างจากที่ได้วิเคราะห์เอาไว้ในข้อ 1) กล่าวคือ ประเทศไทยก็จะมีเผด็จการรัฐสภา การเมืองชั่วร่วมกับราชการชั่วก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อความเจริญของประเทศในทุกๆ ทาง อาจจะหนักกว่าเดิมที่เคยเกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2540 เพราะการซื้อสิทธิขายเสียงจะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากมีทุนที่โกงสะสมไว้มีมากกว่าเดิม ลองดูในปัจจุบัน เพียงแค่เป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ยังซื้อกันถึงเสียงละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท
.
เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสคนมีเงินย่อมกล้าจะลงทุนในระดับพันล้านหรือหมื่นล้านเพราะถ้ามีเสียงมากพอจะจัดตั้งรัฐบาลเองได้ก็สามารถจะโกงกินได้เป็นแสนๆล้าน มันต้องมีคนกล้า ด้านเสียอย่าง มีปัญหาม๊ะ?
.
3) แต่ที่น่าแคลงใจที่สุดอยู่ข้อหนึ่งก็คือว่าทำไมคนไทยที่ไปเรียนในต่างประเทศที่เจริญกว่าประเทศไทย เช่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จึงเกิดมีกลุ่มที่มีความคิดอยากจะลอกแบบทั้งระบบการเมืองการปกครอง วัฒนธรรม และจารีตประเพณี ของพวกฝรั่งตาน้ำข้าวมาใช้กับประเทศไทยทั้งๆ ที่บริบท (context) มากมายแตกต่างกันลิบลับ พวกนักเรียนนอกเหล่านั้นคงไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นคนโง่ไม่มีสมองคงจะต้องมีสาเหตุมาจากเหตุผลอย่างอื่น เช่น บางคนขาดประสบการณ์จึงถูกครอบโดยคนที่มีอาวุโสกว่า บางคนอาจจะไม่สามารถอ่านหัวใจคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศออก เพราะสายเลือดความเป็นนักการเมืองนักปกครองไม่มีใน DNA ของพวกเขา คือ ธรรมชาติมิได้สร้างเขามาเพื่อการนี้ก็ได้หรือว่ามีเหตุผลอื่นๆ ที่เราไม่อาจเข้าถึงความในใจส่วนที่ลึกที่สุดของเขาได้ เช่นมาจากความรู้สึกอาฆาตมาดร้ายต่อบางสิ่งบางอย่างที่ฝังใจมาเป็นเวลานาน หรือต้องทำตามคำสั่งหรือตามความต้องการของใครที่อยู่เหนือกว่าแต่แอบอยู่ในที่มืดหรืออาจจะต้องทำตามคำสั่งของต่างชาติ (มหาอำนาจ) ที่ต้องการทำลายอธิปไตยของชาติไทยเพื่อประโยชน์บางประการของพวกเขาเพราะไม่รู้จึงต้องสันนิษฐานไว้หลายๆ ทาง
.
4) เพราะว่าโดยหลักการแล้วการที่เราไปเรียนหนังสือในต่างประเทศนั้น เราเพียงเพื่อไปแสวงหาความรู้ในด้านต่างๆ ที่ประเทศเหล่านั้นเขามีมากกว่าประเทศเราหรือของเขาก้าวหน้ากว่าที่ประเทศเรามีไม่ว่าจะด้านการเมือง การปกครอง การเศรษฐกิจ และสังคม เราไปเพื่อเรียนให้เข้าใจ นำสิ่งที่เข้าใจมาประยุกต์ใช้กับประเทศของเราเท่าที่พอเหมาะพอสม เพื่อให้ประเทศของเรามีทิศทางในการพัฒนาที่ดีขึ้นเพียงเท่านั้น
.
ผมเองเริ่มหัดพูดภาษาอังกฤษหลังจากที่จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว เรียกว่าเริ่มหัดพูดภาษาอังกฤษตอนอายุ 21 ปี โดย ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้นได้จ้างครูฝรั่งจากสถาบัน A.U.A. มาสอนพวกเรา 10 คนที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วย เพื่อเตรียมพร้อมด้านภาษาอังกฤษก่อนจะถูกส่งไปศึกษาต่อในต่างประเทศด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ หลังจากเรียนภาษาอังกฤษกับ A.U.A. ได้ประมาณ 1 ปี ตัวผมเองถูกมูลนิธิดังกล่าวส่งให้ไปเรียนปริญญาโทในโครงการปริญญาโทที่มูลนิธิฯ ได้จัดตั้งไว้ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงหลายท่านถูกจ้างให้มาสอน
.
ในปีแรกที่เข้าเรียนผมจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นใดๆ ในชั้นเรียนเลย เพราะไม่มั่นใจในภาษาพูดของตนเอง ต่อเมื่อจบปริญญาโทแล้วได้ทุนต่อไปทำปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา (มหาวิทยาลัยฮาวาย) ภาษาพูดของผมก็แข็งแรงขึ้น (ประกอบกับเผอิญมีแฟนสาวเป็นชาวอเมริกันที่ต้องพูดกันทุกวัน) ผมก็เลยกลายเป็นคนที่มีปัญหากับอาจารย์ผู้สอนมากเพราะถ้าผมไม่เห็นด้วยกับที่อาจารย์สอนผมก็จะยกมือขอแสดงความเห็นในทุกๆ เรื่อง หรือถ้าเห็นว่าอาจารย์สอนไม่ค่อยชัดเจน ผมก็ไม่เคยปล่อยให้มันผ่านไปเฉยๆ (คุณดำรง พุฒตาล เคยไปเที่ยวที่มหาวิทยาลัยฮาวายได้ฟังกิตติศัพท์เรื่องการเป็นคนเจ้าปัญหาในชั้นเรียนของผม ท่านนำมาเขียนเล่าให้คนไทยฟัง ขณะนั้นผมเป็นโฆษกรัฐบาลของ พล.อ.เปรมฯ)
.
แม้ระยะหลังเมื่อผมหาเวลาว่างจากงานการเมือง พอจะสมัครเข้าไปเรียนในโครงการสั้นๆ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้างที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเขาเปิดสอนผมก็เลือกไปเรียนทั้งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard ในสหรัฐอเมริกา) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge ในอังกฤษ) และคณะเศรษฐศาสตร์ (London School of Economics แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ)
.
จากการได้ใช้ภาษาอังกฤษในการประชุมในต่างประเทศในฐานะเป็นรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีภาษาพูดของผมก็ยิ่งพัฒนาดีมากขึ้น เมื่อผมไปเรียนในโปรแกรมในมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่งดังกล่าวข้างต้น ผมก็ไม่เคยปล่อยให้อาจารย์นำความคิดสุดโต่งของพวกเขามายัดใส่ในหัวผม ผมจะยกมือขอแสดงความเห็นต่างๆ ว่าทฤษฎีที่อาจารย์สอนนั้นมันไม่เหมาะกับประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทยเป็นประการใดบ้าง บริบทมันแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องประชาธิปไตย แม้จะเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่เคยเห็นด้วยที่จะเอาระบอบของฝรั่งใดๆ มายัดใส่หรือครอบลงบนประเทศไทย บอกเขาตรงๆ ว่าคนไทยไม่เหมือนคนของพวกเขา นักการเมืองไทยก็ไม่เหมือนนักการเมืองของพวกเขา บริบทอื่นๆ ทั้งประวัติศาสตร์ จารีตประเพณีก็ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะคนไทยยังมีการนับถืออาวุโสตามหลักพุทธศาสนาไม่ได้นับถือคนที่เงินในกระเป๋าของพวกเขาอย่างที่คนอเมริกันเขานับถือกัน แต่ผมก็ย้ำว่าการเมืองของพวกฝรั่งที่ว่ามีคุณภาพในปัจจุบันนั้น ล้วนแล้วแต่เคยผ่านการมีนักการเมืองที่ด้อยคุณภาพเพราะได้ตำแหน่งมาจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงมาก่อนเช่นกัน จึงต้องให้เวลาในการพัฒนาตนเองของประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย อย่ารีบยัดเยียดเนรมิต ไม่มีใครทำได้ในเวลาเพียงข้ามคืน และก็ไม่เห็นมีอาจารย์คนไหนเถียงผมในเรื่องนี้ว่า “ไม่จริง”
.
ผมมีหลักฐานว่ามีอาจารย์บางคนที่ประทับใจกับความเป็นคนช่างเถียงของผม เช่น ศาสตราจารย์มาร์ตี้ ลินสกี้ (Prof. Marty Linsky) ซึ่งอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดี Bill Clinton ท่านเป็นอาจารย์สอนเรื่อง “ความเป็นผู้นำ” โดยมีตำราของท่านที่ท่านใช้สอนชื่อ Leadership on the Line ท่านได้กรุณามอบหนังสือที่ท่านเขียนให้ผมเล่มหนึ่งพร้อมกับเขียนแสดงความรู้สึกบางประการเอาไว้ (ดูในภาพ) ซึ่งสามารถแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ขอมอบให้นายไตรรงค์ นักการเมืองผู้ทุ่มเทความพยายามอย่างลึกซึ้งให้กับประเทศของตนในการต่อสู้กับปัญหาที่ท้าทายมากมายหลายประการ แต่ก็ยังยึดถือหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างน่าประทับใจยิ่ง โดยหวังว่าความเป็นผู้นำของท่านจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศของท่านอยู่ต่อไป”
.
5) ที่พูดมาทั้งหมด ก็เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์แก่คนไทยทุกคนทั้งที่เคยไปเรียนในต่างประเทศมาแล้ว (บางคนกลับมาเป็นอาจารย์) บางคนกำลังเรียนอยู่และบางคนกำลังจะไปในอนาคตว่า : “การไปเรียนนั้นต้องรู้จักกลั่นกรองเฉพาะส่วนที่ดี ที่เหมาะ มาใช้กับประเทศของเรา ไม่ใช่คิดจะลอกแบบทั้งชุดมาครอบลงบนประเทศของตน ทั้งๆที่บริบทต่างๆ มากมายล้วนแตกต่างกัน”
.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยะมหาราช) ได้ทรงแนะนำตักเตือนนักเรียนไทยที่ไปเรียนเมืองนอกในยุคของพระองค์ มีความว่า “…ให้พึงนึกในใจไว้ว่า เราไม่ได้มาเรียนจะเป็นฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเป็นคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง” (จากหนังสือ “จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2458 หน้า 38)
.
คนที่ไม่สำนึกในบุญคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อแผ่นดินเกิดก็คงจะไม่สนใจและไม่ฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ผมฟังครับ เพราะผมเป็นพวกสลิ่มด้วยตวามเต็มใจ ครับ.