ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. Saveลมหายใจสถานีรถไฟหัวลำโพง

รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีรายละเอียดว่ามาช่วยรักษาสถานีหัวลำโพงให้เป็นสถานีรถไฟที่มีชีวิตต่อไปเพื่อรับใช้ประชาราษฎร์ด้วยความภักดี

บทความ Save ลมหายใจสถานีรถไฟหัวลำโพง ได้รับความสนใจจากประชาชนที่

”รักหัวลำโพง”อย่างล้นหลามเพียง2วัน ก็มีคนเข้าถึงกว่า 2.6 แสนคน มีคอมเม้นท์ส่วนใหญ่ที่ปรารถนาให้อนุรักษ์สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต เป็นสถานีที่มีรถเข้าออกเช่นเดิม ไม่ใช่แค่เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ที่ตายแล้วเท่านั้น

เส้นทางรถไฟของชาติ ณ จุดเริ่มต้นกิโลเมตรที่ 0 จากสถานีกรุงเทพหัวลำโพงได้ให้บริการรับใช้ประชาราษฎร์เป็นอย่างดีมายาวนานถึง 105 ปี ในราคาย่อมเยามาก ใครจะเชื่อว่าราคาค่ารถไฟปัจจุบันจากชานเมืองรังสิตถึงหัวลำโพงราคาแค่ 6บาทเท่านั้น จากสถานีมักกะสัน ,บางซื่อ มาหัวลำโพงแค่ 2 บาทราคาถูกกว่ารถเมล์ ถ้าปิดหัวลำโพง โดยต้องมาต่อรถไฟฟ้าจากบางซื่อไปหัวลำโพง ก็ต้องจ่ายเพิ่มไม่น้อยกว่า 42 บาท ใช่หรือไม่

การพัฒนารถไฟฟ้าให้ทันสมัยในปัจจุบัน ล้วนแต่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน

รถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท) ที่รัฐบาลสร้างในยุคนี้ มีทั้งหมด 10-11 สาย งบประมาณสร้างประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากภาษีของประชาชนคนเล็กคนน้อยทั้งประเทศ ที่น่าแปลกคือรัฐบาลไม่สร้างรถไฟฟ้าส่วนที่เริ่มจากศูนย์กลางที่มีคนใช้บริการจำนวนมากเพื่อให้คุ้มทุนเร็ว แต่กลับไปสร้างส่วนที่อยู่ปลายอ้อปลายแขมทำให้การเดินรถขาดทุน ส่วนใหญ่รถไฟฟ้าทุกสายรัฐบาลใช้ภาษีประชาชนมาลงทุนสร้างเอง เหลือสายที่เป็นเนื้อๆเช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ณ สถานีเริ่มต้นที่ตลิ่งชัน กรุงเทพฯฝั่งธนบุรี ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไปกรุงเทพฯฝั่งพระนคร และไปบรรจบกับสายสีส้มตะวันออกที่พระราม9 รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกมีเพียง 13 สถานี แต่มีถึง 9 สถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทุกสีทั้ง10-11 สายจึงเป็นสายที่มีความสำคัญมากแต่รัฐบาลกำลังจะยกสัมปทานให้เอกชน ทั้งที่สายสีส้มตะวันออกจากมีนบุรีมาถึงย่านพระราม9 รัฐบาลออกเงินสร้างเองทั้งหมด มีทั้งโรงซ่อมรถ โรงจอดรถแล้วจร แต่พอมาถึงส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกที่เป็นส่วนที่จะมีผู้โดยสารจำนวนมหาศาลจากฝั่งธนบุรีข้ามไปฝั่งพระนคร รัฐบาลกลับจะยกเนื้อชิ้นใหญ่นี้ให้เอกชนมาสัมปทาน ซึ่งจะทำให้เอกชนสามารถกินรวบสายสีส้มตลอดทั้งสาย รวมทั้งมีอำนาจในการกำหนดราคารถไฟฟ้าทั้งหมด ใช่หรือไม่

รัฐบาลอ้างว่ารถไฟฟ้าสายที่ไม่ได้กำไร รัฐบาลลงทุนสร้างเอง ส่วนสายที่มีกำไร เอกชนน่าจะสนใจลงทุน ฟังเหตุผลเช่นนี้แล้วย่อมอดคิดไม่ได้ว่ารัฐบาลเปิดทางให้เอกชนมากินรวบผลประโยชน์จากภาษีของประชาชน ใช่หรือไม่ ทั้งที่ระบบรางของรถไฟฟ้าที่สร้างใหม่เป็นเงินภาษีของประชาชน แต่ในท้ายที่สุดก็จะถูกยกให้เอกชนไปทำกำไรโดยที่ประชาชนต้องจ่ายทั้งภาษีในการก่อสร้างและจ่ายค่ารถไฟในราคาแพง ใช่หรือไม่

การที่รฟท.เป็นรัฐวิสาหกิจแรกๆที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 ที่พระองค์มีสายพระเนตรยาวไกลที่โปรดให้สร้างทั้งรถไฟ รถราง ระบบรางเป็นการขนส่งมวลชนที่ถูกที่สุด บริการรับใช้ประชาราษฎร์ได้อย่างซื่อสัตย์ภักดี คือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนจริงๆตามมิชชั่นในการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องมุ่งทำกำไรสูงสุด ประกอบการให้พออยู่ได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน โดยภาษีของประชาชน เพื่อประชาชน

แต่กลายเป็นว่าในยุคการพัฒนาแบบสมัยใหม่ นโยบายของรัฐบาลที่ไม่เคยแถลงก็คือยกกำไรสูงสุดทุกอย่างให้เอกชนผ่านการสัมปทาน ส่วนภาระอยู่บนกระดูกสันหลังประชาชน สาธารณูปโภคสาธารณูปการ ทุกอย่างกำลังถูกผ่องถ่ายไปให้กลุ่มทุนไม่กี่เจ้าอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการจะให้หยุดเดินรถเข้ามาที่หัวลำโพง ก็เพื่อผ่องถ่ายให้เอกชนมาใช้พื้นที่หัวลำโพงโดยอ้างว่า เพื่อหาเงินใช้หนี้ และอ้างว่าที่ต้องหยุดเดินรถไฟมาหัวลำโพงเพราะทำให้รถติด ทั้งที่รัฐบาลดูเหมือนจะมีนโยบายส่งเสริมระบบรางเพราะระดมสร้างรถไฟฟ้าขนานใหญ่ หรือว่าการสร้างรถไฟฟ้ามากมายหลายสายก็เพื่อยกประโยชน์ให้เอกชนทำกำไรจากค่าโดยสารที่เก็บจากประชาชนแพงๆ จึงต้องตัดการเดินรถไฟมาหัวลำโพงโดยรฟท. ที่มีราคาถูกเพื่อบีบให้ประชาชนต้องต่อรถไฟฟ้าที่มีราคาแพง ใช่หรือไม่

สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีที่หยุดการเดินรถไฟไปหัวลำโพงก็คือ

1)ราคาค่าโดยสารของประชาชนจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน คนที่เดินทางจากชานเมือง และหัวเมืองใกล้เคียง เช่น จากรังสิตมาหัวลำโพงที่เคยจ่ายค่าโดยสารแค่ 6บาท ก็ต้องมาต่อรถที่บางซื่อ ค่ารถไฟฟ้าจากบางซื่อมาหัวลำโพง ก็ต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 42 บาท

2)บางซื่อเป็นจุดศูนย์รวมของรถไฟ รถไฟฟ้าจำนวนมาก ย่อมมีความแออัด และการจราจรติดขัด ทั้งที่ยังเพิ่งเปิดก็มีปัญหารถติดแล้ว ดังนั้นเพื่อลดความแออัด และจราจรติดขัด จึงควรมีการกระ

จายศูนย์มากกว่าการรวมศูนย์ทุกอย่างเอาไว้บางซื่อที่เดียว

3)รัฐบาลควรมีนโยบายชัดเจนเรื่องค่าเดินทางของประชาชน ค่าโดยสารที่เป็นมาตรฐานควรอยู่ที่10% ของรายได้ขั้นต่ำ การยกเลิกการเดินรถไฟเข้ามาที่หัวลำโพงโดยอ้างเรื่องรถติด ทั้งที่ต่อไปสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการให้รถไฟที่เข้ามาที่หัวลำโพงสามารถใช้อุโมงค์ใต้ดินของรถไฟฟ้าสายสีแดงเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดที่ทำให้รถติดได้อยู่แล้ว เว้นเสียแต่ว่าการปิดหัวลำโพงจะเป็นเพียงข้ออ้างที่จะให้ประชาชนมีภาระค่าโดยสารที่แพงขึ้น หรือเพื่อจะเอาที่ 120ไร่ไปให้เอกชนหาประโยชน์ ใช่หรือไม่

อย่างไรก็ดี ดิฉันเพิ่งได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวกระทรวงคมนาคม ให้ข้อมูลว่าจากที่รมว.กระทรวงคมนาคมได้มอบให้การรถไฟฯไปดำเนินการกำหนดแผนการหยุดให้บริการเดินรถไฟเข้าสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น ในวันนี้ 22 พ.ย.64 มีการประชุมคณะอนุกรรมการของกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามพิจารณาเรื่องงดขบวนรถ โดย รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้แจ้งในที่ประชุมว่า ทางรมว.คมนาคมได้มอบให้การรถไฟกลับไปทบทวน ปรับแผนการงดขบวนรถอีกครั้ง เนื่องจากมีกระแสคัดค้านของประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

ดิฉันขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันส่งเสียงเสนอให้เจ้ากระทรวงได้รับทราบว่าประชาชนไม่ต้องการให้ปิดสถานีหัวลำโพง ควรปรับปรุงสถานีหัวลำโพงให้ยังเป็นสถานีศูนย์กลางต่อไปอีกแห่งนอกเหนือจากศูนย์บางซื่อ และให้สถานีหัวลำโพงยังคงเป็นจุดปลายทางของรถจากภูมิภาค และชานเมืองที่มีราคาย่อมเยาเป็นทางเลือกของประชาชน

สถานีหัวลำโพงเป็นระบบรางที่ได้ลงทุนมานานแล้ว และใช้การได้อยู่ เช่นเดียวกับสนามบินดอนเมือง เราควรได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนี้ต่อไป ดีกว่าทิ้งไป แล้วยกไปให้เอกชนสร้างย่านธุรกิจทับเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ของประเทศ การมีศูนย์กลางรถไฟเดิม และศูนย์กลางใหม่ น่าจะดีกว่าแออัดอยู่ในที่เดียว ซึ่งไม่ต่างจากที่เรายอมรับให้มี2สนามบิน ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง

เราควรรักษาสถานีกรุงเทพหัวลำโพงไว้ ให้เป็นสถานีรถไฟประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตรับใช้ประชาราษฎร์ด้วยความภักดีต่อไป ดีกว่าทิ้งไปและเหลือเพียงซากพิพิธภัณฑ์ที่ไร้ชีวิต มิใช่หรือ