‘วิโรจน์ ก้าวไกล’ ลงพื้นที่ถี่ยิบ เร่งโกยคะแนนเลือกผู้ว่าฯกทม.

วิโรจน์

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของพรรคก้าวไกล ซึ่งชูสโลแกน “พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ” ได้โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความภายหลังลงพื้นที่ตามชุมชนต่าง โดยมีรายละเอียดดังนี้

เมืองที่ดี คือเมืองที่คุ้มครองสวัสดิภาพของทุกชีวิต

ปัญหาสุนัขจร และแมวจร ในชุมชนเมืองเป็นปัญหาที่ถูกละเลย และมองว่าเป็นปัญหาเล็กน้อย แต่อันที่จริงแล้ว เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสัตว์ ที่ประชาชนผู้รักสัตว์ให้ความสนใจ ตลอดจนยังเป็นปัญหาด้านสุขอนามัย และความปลอดภัยที่กระทบกับคนในชุมชน ปัญหานี้จึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการบริหารจัดการเมือง เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยในเมืองทุกๆ คน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก เข้าอกเข้าใจกัน

ในวันนี้ ผม และ ส.ส.นิติพล ผิวเหมาะ ตลอดจน ผู้แทนจากมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม องค์กรสิทธิสัตว์แห่งประเทศไทย (Thailand Animal Rights Alliance) กลุ่มแจกฟรีน้องหมาน้องแมว (กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล) เครือข่ายพันธมิตรกลุ่มคนช่วยเหลือสัตว์ และเจ้าหน้าที่จากกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกันสำรวจปัญหาที่ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง จากกรณีที่พบว่าผู้เช่าบ้านหลังหนึ่ง ได้ทอดทิ้งแมวจรที่เลี้ยงไว้กว่า 30 ตัว จนแมวอยู่ในสภาพอดอาหาร ผอมโซ และเจ็บป่วย ภายในบ้านเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากการขับถ่ายของแมว ซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 20 มาตรา 22 พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557

ปัจจุบันจำนวนสุนัขจรในกรุงเทพมหานคร ถูกประเมินจากกรมปศุสัตว์ว่ามีอยู่ราว 140,000-150,000 ตัว สำหรับแมวจรน่าจะมีอยู่ประมาณ 80,000-90,000 ตัว แต่จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจำนวนที่แท้จริง ของสุนัขจร และแมวจรที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่าจำนวนที่กรมปศุสัตว์ประเมิน และอาจจะมีมากถึงหลายแสนตัว โดยเฉพาะแมวจรที่สามารถตกลูกได้ถึงปีละ 3 ครั้ง และยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มีปัญหาปากท้อง และเศรษฐกิจเกิดขึ้นตามมา และมีแนวโน้มว่าสุนัขเลี้ยง และแมวเลี้ยง จะถูกทอดทิ้งจากเจ้าของ หรือผู้อุปการะมากขึ้น

การแก้ไขปัญหานี้ มีความจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบคอบ รอบด้าน ที่ต้องคำนึงถึงประเด็นในเรื่องสิทธิสัตว์ และความปลอดภัยและสุขอนามัยของชุมชน ควบคู่กัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหานี้มีความยั่งยืน โอบรับความรู้สึกของคนทุกๆ คนในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของต้องเริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร ต้องดำเนินการลงทะเบียน และติดไมโครชิพที่สุนัขเลี้ยง แมวเลี้ยง สุนัขจร และแมวจร อย่างจริงจัง เพื่อจะได้ประเมินจำนวนของสัตว์เลี้ยง และสัตว์จรได้อย่างแม่นยำ อย่างน้อยๆ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะได้ติดตามเจ้าของสัตว์ หรือผู้อุปการะสัตว์ มาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ กรุงเทพมหานครจะปล่อยปละละเลยให้ชุมชนแก้ไขปัญหากันเองตามยถากรรมไม่ได้

หลังจากที่ดำเนินการลงทะเบียนแล้ว สิ่งที่กรุงเทพมหานครต้องดำเนินการต่อก็คือ การประสานงานกับกรมปศุสัตว์ ในการฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้กับสัตว์เลี้ยง และสัตว์จร ให้ครอบคลุมที่สุด เพื่อป้องกันโรคให้กับสัตว์ และเพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน รวมทั้งติดต่อประสานกับเจ้าของสัตว์ หรือผู้อุปการะสัตว์ เพื่อพาสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขจร และแมวจร ที่อยู่ในความอุปการะมาทำหมัน เพื่อควบคุมจำนวนของสุนัขจร และแมวจร ให้อยู่ในวงจำกัด ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทายาทของสุนัขจร และแมวจร

สำหรับการจับสัตว์ไปอยู่ในศูนย์พักพิงสัตว์ นั้นถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการแก้ไขปัญหานี้ ในกรณีที่พบว่าสุนัขจร หรือแมวจร ตัวดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน และไม่มีผู้อุปการะในระบบทะเบียน แต่สิ่งที่กรุงเทพมหานครต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ก็คือ จะต้องทำให้ศูนย์พักพิงสัตว์ มีมาตรฐานในการดูแลสัตว์ ทั้งในเรื่องสุขอนามัย และการป้องกันโรค รวมทั้งมีกระบวนการในการปรับนิสัยสัตว์ ตลอดจนร่วมมือกับมูลนิธิ และกลุ่มสมาคมคนรักสัตว์ต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์หาเจ้าของให้กับสุนัขจร และแมวจรเหล่านี้

ศูนย์พักพิงสัตว์ จะต้องไม่อยู่ในสภาพที่เป็นคุกขังสัตว์ และเป็นแหล่งกระทำทารุณกรรมสัตว์เสียเอง

เรื่องสุนัขจร และแมวจร ในกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ปัญหาเล็ก แต่เป็นปัญหาที่กระทบกับความปลอดภัย สุขอนามัย และจิตใจของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องใส่ใจ ลงรายละเอียด พร้อมกับร่วมมือกับมูลนิธิ และสมาคมคนรักสัตว์ต่างๆ ในการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้สังคมที่ประกอบด้วยคนกรุงเทพฯ ทุกๆ คน อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก และเข้าอกเข้าใจกัน