อุตุฯจับตา ‘พายุเบบินคา’ ถล่มเวียดนามกระทบพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงระดับน้ำเพิ่ม

14 ส.ค. 61 – กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง “พายุโซนร้อน “เบบินคา”” ฉบับที่ 17 ระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (14 ส.ค. 61) พายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 300 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 21.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.6 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เกือบไม่เคลื่อนที่ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน และประเทศลาวในช่วงวันที่ 16-17 สิงหาคม 2561 โดยจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่มไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร และอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และติดตามข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.tmd.go.th หรือ สายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 15-16 สิงหาคม 2561 พายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) จะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทย จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพายุลูกดังกล่าว แต่ก็อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง เนื่องจากอิทธิพลจากพายุลูกนี้จะส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือ, ใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และ สปป.ลาว มีฝนตกหนัก

โดยหากมีฝนตกหนักในพื้นที่ สปป.ลาว ก็จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็อาจจะทำให้การระบายน้ำที่ปัจจุบันยังคงท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่าง สกลนครและ นครพนม เป็นไปได้ช้า รวมถึงได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่จังหวัดพื้นที่ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ก็จะได้รับผลกระทบจากภาวะคลื่นสูงลมแรง และ ฝนตกหนักร่วมด้วยเช่นกัน