เขื่อนแก่งกระจานน้ำลด ‘เมืองเพชร’เริ่มคลี่คลาย จับตา4จว.ริมโขงน้ำล้นตลิ่ง

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญว่า ในวันที่ 28 ส.ค. การติดตั้งกาลักน้ำ 25 ชุดที่เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร จะแล้วเสร็จ ทำให้การระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีกวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันปริมาณน้ำ 567 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 109% ปริมาณน้ำไหลเข้า 12.44 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 1.33 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 8.12 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 3.38 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้เน้นย้ำการแจ้งเตือนหน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำใน 3 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร บึงกาฬ และนครพนม อย่างใกล้ชิด เนื่องจากระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นจากการระบายน้ำเพิ่มขึ้น

นายสำเริง กล่าวว่า ขณะที่เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีแนวโน้มน้ำไหลเข้าเขื่อนลดลง ปัจจุบันปริมาณน้ำ 754 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 106% น้ำล้นทางระบายน้ำ (สปีลเวย์) สูง 99 ซม. ลดลง 1 ซม. ปริมาณน้ำไหลเข้า 13.71 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 3.51 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำไหลออก 14.31 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.66 ล้าน ลบ.ม. โดยระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 92 ซม. แนวโน้มลดลง และที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่ง 2 ซม. แนวโน้มลดลง ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีที่ยังได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มลดลง

นายสำเริง กล่าวว่า ด้านเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 8,150 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 92% ปริมาณน้ำไหลเข้า 112.35 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 11.35 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 52.29 ล้าน ลบ.ม. สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำปัจจุบันยังไม่สูงกว่าตลิ่ง แต่กระทบพื้นที่รีสอร์ทที่สร้างอยู่ในแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแม่กลอง จ.กาญจนบุรี ทั้งนี้ ยังมีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่องด้วย

ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าวว่า สำหรับปริมาณน้ำในแม่น้ำสำคัญๆ ที่พบว่ามีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งขณะนี้มีแม่น้ำน่าน จ.อุตรดิตถ์ แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร ห้วยหลวง จ.อุดรธานี ลำเซบาย จ.ยโสธร แม่น้ำยัง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด แม่น้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี คลองพระปรง จ.สระแก้ว แม่น้ำนครนายก จ.นครนายก ขณะที่แม่น้ำโขงมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ จ.นครพนม มุกดาหาร และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.หนองคาย

“สภาพอากาศวันนี้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 24 จังหวัด ภาคเหนือ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ภาคตะวันตก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ไทยยังคงมีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงราย 44.0 มม. แพร่ 41.5 มม. ลำปาง 40.5 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.อุบลราชธานี 55.0 มม. สกลนคร 44.4 มม. อุดรธานี 38.6 มม. ภาคกลางได้แก่ จ.ลพบุรี 39.0 มม. เพชรบูรณ์ 39.0 มม. และภาคตะวันออก ตราด 39.0 มม.”นายสำเริง กล่าว