ผบ.ทบ.เชื่อบ้านเมืองไม่วุ่นวายหลังคลายล็อก ทุกฝ่ายมุ่งเลือกตั้งยันกองทัพเป็นกลาง

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการคลายล็อกพรรคการเมืองว่า การประชุม คสช.เมื่อวานนี้ (28 ส.ค.) เป็นการประชุมเพื่อเตรียมการไปสู่การเลือกตั้ง เป็นการพิจารณาประกาศ คสช.ที่ 57 / 2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และประกาศคสช.ที่ 53/2560 โดยใช้อำนาจตามมาตรา44 ออกเป็นคำสั่ง คสช.โดยนายกฯได้ชี้แจงไปแล้วซึ่งมีองค์ประกอบหลักๆ 3 ส่วนคือ 1.ภาพรวมงานธุรการ อาจขยายเวลาในการดำเนินงานของแต่ละเรื่อง 2.ให้ทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง และ 3 การทำไพรมารีโหวต ในรายละเอียดต้องรอคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีจะลงนามโดยจะมีเวลา 90 วันที่จะให้ทำกิจกรรมบางเรื่องใน 6 ข้อ ส่วนรายละเอียดคลายล็อกการเมือง นั้นขอให้รอคำสั่งจะมีรายละเอียดทุกอย่างก็จะมีการชี้แจงอีกครั้ง

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า การผ่อนคลายล็อกการเมือง พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ เช่น การหาสมาชิกเพิ่ม การประชุมพรรค การคัดเลือกหัวหน้าพรรค การแก้ไขข้อบังคับ ส่วนการหาเสียงไม่สามารถทำได้ ต้องรอ พรป.ให้การว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ใน 90 วัน ส่วนการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงคลายล็อกพรรคการเมืองนั้น เท่าที่ดูสถานการณ์ไม่ได้มีอะไร เพราะอนุญาตให้ทำกิจกรรมการเมืองได้ ทุกฝ่ายมุ่งสู่การการเลือกตั้ง ก็คงมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง สิ่งที่ห่วงใยก็คือการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งนำไปสู่การโจมตีกันจึงต้องขอความร่วมมือ ทั้งนี้ตนไม่ห่วงกลุ่มใด เพราะทุกฝ่ายมุ่งสู่การเลือกตั้งตามกรอบที่กำหนด ความวุ่นวายไม่น่าจะมีปัญหาใด ซึ่งในภาพรวมการดูแลด้านความมั่นคงเท่าที่ทราบ ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล

ผบ.ทบ. กล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไรกระทบต่อการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายมุ่งไปสู่การเลือกตั้งตามกรอบที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่มีเหตุผลอะไร และ คงไม่มีอุบัติเหตุอะไรที่จะเลื่อนเลือกตั้งออกไปเพราะได้กำหนดกรอบไว้อย่างเร็วที่สุด 24 กุมภาพันธ์ และอย่างช้าไม่เกิน 5 พฤษภาคม ปี 2562

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า การทำกิจกรรมทางการเมือง จะมีเจ้าหน้าที่แต่ละฝ่าย เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.)และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล ทั้งนี้เราคลายล็อกให้ก็สามารถดำเนินการทางการเมืองได้พอสมควร ยกเว้นเรื่องการหาเสียงเพราะฉะนั้นไม่น่าจะมีปัญหาใด ส่วนการดูแลในเรื่องของโซเชียลนั้นต้องดูในแง่ของกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะเรื่องการหาเสียง ส่วนการแสดงออกและจุดยืนของกำลังพลนั้น ได้กำชับให้ตระหนัก รู้บทบาทของตัวเองเป็นข้าราชการบทบาทในการยืนอยู่ในจุดที่เหมาะสม ยืนอยู่ตรงกลางเป็นเรื่องสำคัญและไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง