นายกฯเตรียมบินเนปาล โชว์วิสัยทัศน์เวทีประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล30-31ส.ค.

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4 หรือ (Fourth BIMSTEC Summit) ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2561 ณ กรุงกาฐมาณฑุ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ประเด็นหลักของการประชุมดังกล่าวคือ “การมุ่งสู่ความสงบสุข ความมั่นคั่งและยั่งยืนแห่งภูมิภาคอ่าวเบงกอล” ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้แสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุม โดยเน้นการผลักดันความร่วมมือ ความเชื่อมโยงครอบคลุมทั้งทางบกและทางทะเล การค้า การลงทุนและการพัฒนา โดยเน้น “คน” เป็นศูนย์กลาง สอดรับกับแนวทางเพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของไทย โอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดหารือทวิภาคีกับนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย และ นายคัดห์กา ปราสาด ชาร์มา โอลิ นายกรัฐมนตรีเนปาล

ทั้งนี้ ผู้นำ BIMSTEC จะมีการลงนามความตกลง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้า ภายใต้กรอบ BIMSTEC 2.ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 3.ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการทูตของประเทศสมาชิก ก่อนจะมีพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานการประชุมให้กับศรีลังกาต่อไป รวมถึงจะมีปฏิญญาการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 4 ครอบคลุมการปฏิรูปกรอบความร่วมมือเพื่อให้สอดคล้องกับภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์ปัจจุบัน แบ่งเป็น 5 เสาหลักของความร่วมมือ

นอกจากนี้จะมีการประชุมผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อหารือ ใน 4 หัวข้อ ได้แก่ 1.การจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือ BIMSTEC) 2.การจัดทำกฎบัตร 3.ความเชื่อมโยงภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC และ 4.การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธในภูมิภาค

สำหรับกรอบความร่วมมือ BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือระหว่าง 7 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทยเน้นความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ บนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ตามกำหนดการไทยจะเป็นประธานกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ในปี 2563 ด้วย