ปภ.เผยอุทกภัย 8 จว.ยังต้องเร่งระบายน้ำ จับตา ‘สกลนคร-เพชรบุรี’ มีแนวโน้มเพิ่ม

เมื่อวันที่ 1 กันยายน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน “เบบินคา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม – 1 กันยายน 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย นครพนม บึงกาฬ เพชรบุรี สกลนคร ลพบุรี นครนายก ชัยภูมิ เพชรบุรี พิจิตร กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี รวม 93 อำเภอ 408 ตำบล 2,318 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 55,353 ครัวเรือน 162,711 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ หนองคาย เชียงราย ลพบุรี และพิจิตร

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 8 จังหวัด รวม 34 อำเภอ 164 ตำบล 1,135 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,773 ครัวเรือน 78,334 คน ได้แก่ 1.นครพนม น้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 7 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว

2.บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 8 อำเภอ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

3.สกลนคร น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

4.เพชรบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

5.นครนายก น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

6.ชัยภูมิ น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

7.กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอ 3 อำเภอ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

และ 8.อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว