คุมเข้ม ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ปูพรมตรวจโรงงานผลิต บังคับใช้กฎหมายจริงจัง

เมื่อวันที่ 1 กันยายน นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ และแนวทางบริหารจัดการกับซากอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง และสินค้าที่ไม่ใช้แล้วในระยะยาวว่า ที่ผ่านมามีการอนุญาตให้นำเข้าสิ่งเหล่านี้ แต่พบปัญหาการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยเฉพาะการนำเข้าและนำไปให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ปัจจุบันจึงมีการวางกติกาและแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้อง พร้อมกับเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเข้าสู่คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบที่มีพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น มีการจำแนกเป็นในส่วนของซากชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ห้ามนำเข้าโดยสิ้นเชิง ในส่วนของอุปกรณ์ไฟฟ้ามือสองจะอนุญาตเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีและราคาสูง รวมถึงมีอายุการใช้งานยาวนาน เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมที่นำเข้ามาใช้กับกิจการของตนเอง ส่วนของมอเตอร์และเศษสายไฟต่างๆ มีแนวทางให้นำเข้าเฉพาะเศษโลหะ เช่น เหล็ก อลูมิเนียมและทองแดง โดยต้องมีการจัดการคัดแยกไม่ให้เกิดมลพิษ หรือ การปนเปื้อน

สำหรับมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันการลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าประเทศที่ไม่ถูกต้องนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ทำงานร่วมกับกรมศุลกากรอย่างเข้มงวด ด้วยการเอกซเรย์ หากสงสัยจะเปิดตรวจสอบทุกตู้สินค้า รวมถึงการควบคุมการนำขนจากท่าเรือสู่สถานที่ผลิตตรงที่ตามที่ได้รับอนุญาตไว้ นอกจากนี้จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการที่ทำผิดเงื่อนไขอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการปูพรมตรวจสอบโรงงานทั้งหมดแล้ว และจะยังคงติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามขอฝากประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติกอย่างถูกต้อง ไม่กลายเป็นมลพิษกับประเทศ ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมก็จะต้องมีขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกเหลือทิ้งน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ในปีผ่านมามีเศษซากอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในประเทศประมาณ 4 แสนตัน สามารถนำกลับมาใช้ได้ประมาณ 2 แสนตัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปบริหารจัดการให้ถูกวิธี ขณะที่เศษพลาสติกที่เกิดจากการใช้ในประเทศนั้นอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านตัน สามารถรีไซเคิลได้ 5 แสนตัน ส่วนที่เหลือจะต้องเร่งบริหารจัดการให้ถูกต้อง