‘รมว.มหาดไทย’ พอใจ ‘ไทยนิยมยั่งยืน’ คืบหน้า78% ขอขยายเวลาถึงสิ้นปี 61

เมื่อวันที่ 1 กัยยายน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการบริหารโครงการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างมาก พร้อมกันนี้ได้เสนอที่ประชุม ครม.เพื่อขอขยายเวลาการดำเนินการโครงการหมู่บ้านละ 200,000 บาท ไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการดำเนินการโครงการต่างๆ ที่ผ่านมากว่า 9 หมื่นโครงการ นั้นมีความก้าวหน้าถึงร้อยละ 78 ส่วนใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจากการดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยังไม่พบเรื่องการทุจริตแต่อย่างใด

รมว.มหาดไทย กล่าวอีกว่า กระทรวงและหน่วยงานต่างๆได้ลงพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืนต่างๆครบคลุมทุกพื้นที่ 8 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ รวมทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ล่าสุด กระทวงมหาดไทย ในฐานะผู้กำกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้สั่งให้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพฯให้ครอบครัวทุกพื้นที่ โดยในวันที่ 15 ก.ย. นี้ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เขตทวีวัฒนา จะจัดกิจกรรมการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ “กทม. เติมความสุข สู่ชุมชน”ครั้งที่ 14 ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยบูรณาการความร่วมมือโดยจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ของหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานภายนอกไปให้บริการแก่ชาวชุมชนทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิดและทั่วถึง

ทั้งนี้ กิจกรรมประกอบด้วยการบริการด้านทะเบียนราษฎร์ บริการด้านสุขภาพโดยหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ อาทิ ตรวจคัดกรองโรค ตรวจรักษาฟัน ตรวจสายตา ตรวจการได้ยินเพื่อรับเครื่องช่วยฟังสำหรับผู้สูงอายุ ตรวจมะเร็งสตรี ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ พบจิตแพทย์คลายเครียด บูธ 1555 รับเรื่องราวร้องทุกข์ บริการฝึกอาชีพระยะสั้น บริการตัดผมฟรี การจำหน่ายของดีชุมชนและสินค้าราคาถูกจากผู้ผลิต ทั้งนี้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ทุกบริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สัตว์เลี้ยง ทำหมันสุนัขและแมว จดทะเบียนสุนัขและฝังไมโครชิป การให้ความรู้เกี่ยวกับงูและวิธีเอาตัวรอดจากงู รวมทั้งมีกิจกรรมการแสดงบนเวทีตลอดงาน

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่ชื่นชอบ เพราะได้มีคณะกรรมการลงพื้นที่รับฟังปัญหาความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และนำข้อเสนอไปสู่การกำหนดแผนงาน และโครงการ และดำเนินการตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตามหลักการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบยั่งยืน