เตือน17จว.รับมือฝนตกหนัก พร้อมปรับแผนระบายน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ

เมื่อวันที่ 4 กันยายน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศวันนี้ ว่า ยังมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักใน 17 จังหวัด คือ ภาคเหนือ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.น่าน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.นครพนม จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ ภาคตะวันออก จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด

สำหรับปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดน่าน มีฝนตกสูงถึง 212.5 มิลลิเมตร , อุตรดิตถ์  มีฝนตกสูงถึง 108  มิลลิเมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดนครพนม มีฝนตกสูงถึง 113 มิลลิเมตร , อุดรธานี  มีฝนตกสูงถึง 104 มิลลิเมตร ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดตราด  มีฝนตกสูงถึง 121 มิลลิเมตร ภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรี มีฝนตกสูงถึง 146.2 มิลลิเมตร , ปทุมธานี  มีฝนตกสูงถึง 100.2 มิลลิเมตร และภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดพังงา  มีฝนตกสูงถึง 109.4 มิลลเมตร , ระนอง มีฝนตกสูงถึง 99.7 มิลลิเมตร

ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันตกเขื่อนขนาดใหญ่ยังคงเร่งการพร่องน้ำ เนื่องจากฝนยังตกต่อเนื่องและไว้รองรับน้ำฝนตามฤดูกาลช่วงปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคม คือ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ ร้อยละ 106 มีน้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 96 เซนติเมตร เขื่อนวชิราลงกรณ ปริมาณน้ำ ร้อยละ 94 โดยวันนี้ (4 ก.ย.61) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เริ่มปรับแผนการระบายน้ำเป็นวันละ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำที่ระบายยังไม่เกินความจุของลำน้ำแควน้อย แต่ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำแควน้อยเอ่อสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 40 เซนติเมตร และ เขื่อนศรีนครินทร์ ปริมาณน้ำ ร้อยละ 91 ระบายออกวันละ 20.44 ล้านลูกบาศก์เมตร

รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า  ปัจจุบันอัตราการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 820 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเขื่อนจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 30-50 เซนติเมตร โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ปรับลดการระบายน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์แล้ว เพื่อลดผลกระทบท้ายเขื่อนน้อยที่สุด