กรมศิลปากรเร่งอนุรักษ์ปืนใหญ่เพิ่งขุดค้นพบ คาดอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่3-4

จากการขุดพบปืนใหญ่จำนวน 1 กระบอก บริเวณสนามหญ้าใกล้ถนนทางเข้าสนามหลวง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2561 ระหว่างสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ว่าจ้างบริษัทรับเหมาขุดวางท่อระบายน้ำในพื้นที่สนามหลวง จากนั้นกรมศิลปากร (ศก.) เข้าตรวจสอบพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และสำนักพระราชวังเคลื่อนย้ายปืนใหญ่มาเก็บรักษาชั่วคราวด้านข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครเพื่อ ดำเนินการอนุรักษ์และศึกษารูปแบบปืนใหญ่

เมื่อวันที่ 7 กันยายน กรมศิลปากรจัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ปืนใหญ่จากสยาม จากกรณีการพบปืนใหญ่ที่ท้องสนามหลวง” ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร นางประนอม คลังทอง รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากเหตุการณ์พบปืนใหญ่ ณ ท้องสนามหลวง นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มาตรวจสอบและมอบหมายกรมศิลปากรจัดเสวนาวิชาการเพื่อให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับปืนใหญ่โบราณ ทั้งการใช้งานในอดีต ปืนใหญ่ที่เคยพบหลายครั้ง ปืนใหญ่ในประวัติศาสตร์รวมถึงเผยแพร่แนวทางดำเนินงานต่อไป นอกจากเสวนาแล้ว ผู้ร่วมกิจกรรมได้ศึกษาปืนใหญ่วังหน้าของจริงที่พบที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ด้วย ตลอดจนประชาชนสามารถมาชมกระบวนการอนุรักษ์ปืนใหญ่กระบอกนี้ได้ด้วย

นางสาวนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับมอบหมายจากสำนักพระราชวังและกทม. ให้ดูแลรักษาปืนใหญ่ที่พบชั่วคราวเพื่อดำเนินการอนุรักษ์เรื่องกายภาพ เนื่องจากถูกฝังใต้ดินมานาน ขุดขึ้นมาสนิมกัดกินผุกร่อน พบรอยร้าว หากปล่อยทิ้งไม่อนุรักษ์เชิงโครงสร้างอาจจะผุกร่อนจนกระทั่งปืนแตกได้

“เบื้องต้นกำหนดระยะเวลา 3 เดือนในการอนุรักษ์ด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์อาจไม่ได้กลับเป็นปืนใหญ่ที่สมบูรณ์ดังเดิม แต่ต้องคงสภาพจัดแสดงอยู่บนพื้นดินได้ต่อไป ไม่แตก ส่วนงานศึกษาค้นคว้าทางเอกสารประวัติศาสตร์จะทำงานร่วมกับสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เพื่อถอดรหัสปืนใหญ่กระบอกนี้ผลิตช่วงเวลาใด ใช้ในการใด ปกติปืนใหญ่จะมีตราสัญลักษณ์และตัวเลขบอกรุ่น ขณะที่ปืนใหญ่ที่พบใหม่นี้ไม่มีตัวเลขใดๆ แต่จากการเทียบรุ่นกับปืนอังกฤษแบบบลอมฟีลด์ มีหูระวิง สามารถระบุช่วงเวลาได้แคบเข้ามาสมัยรัชกาลที่ 3-4 แต่จะหล่อเองเลียนแบบอังกฤษหรือซื้อปืนใหญ่มาจากต่างประเทศ ยังไม่ชี้ชัดจะต้องศึกษาเบื้องลึกหาคำตอบต่อไป”นางสาวนิตยา กล่าว

กรมศิลปากรเร่งอนุรักษ์ปืนใหญ่เพิ่งขุดค้นพบ คาดอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่3-4 1