กนอ.จับตาระดับน้ำเตรียมพร้อมป้องกันอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรมอยุธยา

เมื่อวันที่ 7กันยายน นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) (สายงานปฎิบัติการ 1) เปิดเผยว่า กนอ.ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและการเกิดอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 3 นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ นิคมฯสหรัตนนคร นิคมฯบางปะอิน และนิคมฯบ้านหว้า(ไฮเทค) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยเบื้องต้นได้สั่งการไปยัง 3 นิคมฯดังกล่าว รวมถึงนิคมฯอื่นๆให้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและการติดตามสถานการณ์ประจำวันแล้ว เช่น การตรวจสอบระดับน้ำในคลองรอบนิคมฯ ตรวจสอบและซ่อมแซมเขื่อน/คันดินรอบนิคมฯ รวมถึงให้ติดตามข่าวสารและข้อมูลพยากรณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ระดับน้ำทะเลหนุนของกรมอุทกศาสตร์ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ รวมถึงการเตรียมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในกรณีที่เกิดอุทกภัย

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำและมาตรการเตรียมความพร้อมในนิคมฯทั้ง 3 แห่ง ยังอยู่ในระดับปกติโดย แต่ต้องติดตามตรวจสอบระดับน้ำและปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหก รวมทั้งปริมาณน้ำที่ไหลผ่านโครงการนิคมฯบางปะอิน โดยตรวจเช็คระดับ รวมถึงระบบเฝ้าระวังน้ำภายนอกและระบบแจ้งเตือนภัยโดยได้ติดตาม ตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำผ่านเขื่อนดังกล่าว รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำประจำวันจากชลประทาน ซึ่งพบว่าเกณฑ์การเฝ้าระวังทั้งหมดยังอยู่ในระดับปกติ

นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ได้ร่วมบูรณาการกับกนอ. จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ในการหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมเพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม โดยมี 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ 93 เครื่อง ติดตั้งในจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจำนวน 54 จุดทั่วอยุธยา และรถสูบน้ำจำนวน 3 คัน 2.เตรียมพร่องน้ำจากลำคลองเพื่อรักษาระดับน้ำให้อยู่ต่ำกว่าตลิ่งและอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

3.การรายงานสถานการณ์ทุกวันเพื่อสื่อสารให้ผู้ประกอบการภายในได้ทราบความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อุทกภัยเป็นประจำทุกวัน และตรวจเช็คปริมาณน้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่จะเติมเข้ามาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดการณ์ว่า ช่วงเดือนกันยายนถึงจะทราบปริมาณน้ำ เพราะต้องประเมินจากปริมาณของฝนที่ตกลงมาก่อน