‘ชลประทาน’ ยันมีน้ำพอใช้ปลูกพืชหลังฤดูทำนา รัฐช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 8 กันยายน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังปี 2561/62 โดยสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวให้มาปลูกพืชชนิดอื่นๆที่ตลาดต้องการและให้ผลตอบแทนสูง เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยรัฐจะเข้ามาช่วยเหลือในการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การประสานภาคเอกชนในการเข้ามารับซื้อผลผลิต การกำหนดราคาขายที่เป็นธรรม และการจัดทำประกันภัยพืชผล โดยจะยึดแนวทางการบริหารจัดการด้านการตลาดสินค้าเกษตร ภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” พร้อมทั้งใช้กลไกสหกรณ์ในพื้นที่เข้ามาบริหารจัดการผลผลิตของเกษตรกรตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

นายทองเปลว กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำยืนยันว่า มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชในช่วงหลังฤดูทำนาอย่างแน่นอน สำหรับการขับเคลื่อนครั้งนี้ได้เริ่มต้นนำร่องโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังนาไปแล้วในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลก จำนวน 6,000 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 415 ราย ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกข้าวโพดไร่ละ 7,500 บาท หักทุนแล้วจะเหลือกำไรไร่ละ 4,000 บาท ซึ่งได้รายได้ดีกว่าปลูกข้าวถึงไร่ละประมาณ 2,000 บาท

อย่างไรก็ดีเพื่อให้โครงการสัมฤทธิ์ผล ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การคัดเลือกพันธุ์เพาะปลูกให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และรอบการผลิต การวิเคราะห์สภาพดินและชลประทานจะช่วยดูแลระบบน้ำ ส่วนการสนับสนุนด้านเงินทุน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1 % วงเงิน 3,000 บาทต่อไร่ให้สหกรณ์กู้ยืมไปให้สมาชิกกู้ยืมต่อ เพื่อนำไปเป็นทุนในการปลูกข้าวโพด และสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการยังสามารถกู้ยืมไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับการรวบรวมผลผลิตข้าวโพดจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ได้เช่นกัน