แนะเกษตรกรเร่งเก็บผลผลิตให้เสร็จก่อนกลางเดือนก.ย.นี้รับน้ำหลากทุ่งเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้ประสานความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา ในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปราจีนบุรีและบางปะกงร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยปริมาณน้ำที่ไหลหลากจากแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก จะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำบางปะกงที่ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งปัจจุบันยังสามารถระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้ช้า เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง จึงได้บริหารจัดการน้ำโดยการผันน้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรี ผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) บางเดชะ และปตร.บางพลวง เข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางพลวง โดยจะติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบหรือกระทบให้น้อยที่สุดต่อพื้นที่ปลูกข้าวของเกษตรกร
ส่วนทุ่งรังสิตปริมาณน้ำจากแม่น้ำนครนายกบางส่วนได้ไหลเข้ามาในพื้นที่ กรมชลประทานได้ระบายน้ำผ่านระบบชลประทานลงสู่คลองพระองค์ไชยานุชิต ไปลงคลองชายทะเลโดยมีสถานีสูบน้ำริมทะเลของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร สูบระบายน้ำออกทะเลในอัตราวันละ 17 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ปัจจุบัน (9 ก.ย. 61)ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 940 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งได้มีการลดน้ำเข้าระบบชลประทาน ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เหลือ 360 ลบ.ม./วินาที และควบคุมการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ประมาณ 651 ลบ.ม./วินาที ในส่วนพื้นที่รับน้ำหลากในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขอให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จก่อนกลางเดือนกันยายนนี้ เพื่อเตรียมทุ่งต่างๆไว้รับน้ำหลากตามแผนที่ได้วางไว้ อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานจะดำเนินการบริหารจัดการจราจรน้ำตามแผนที่ได้วางไว้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือให้เกิดน้อยที่สุด