เตือนปราจีนบุรี-นครนายกเฝ้าระวังฤทธิ์พายุ ‘มังคุด’ ฝนตกหนัก น้ำทะเลหนุนสูง

เมื่อวันที่ 15 กันยายน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ว่า อิทธิพลพายุไต้ฝุ่น “มังคุด” (MANGKHUT) จะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้บริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับช่วงวันที่ 17-19 ก.ย. 61 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม

สำหรับสถานการณ์ฝนวันนี้ คาดว่ามีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก 40 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล โดยปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาสูงสุด 13 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี 206 มม. ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง จ.ตราด 125 มม. ฉะเชิงเทรา 94 มม. จันทบุรี 93 มม. กรุงเทพมหานคร 87 มม. พังงา 86 มม.แม่ฮ่องสอน 85 มม.ศรีสะเกษ 76 มม.ระนอง 71 มม.ปทุมธานี 63 มม.ระยอง 63 มม.สตูล 63 มม.และประจวบคีรีขันธ์ 61 มม.

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำขณะนี้ยังสามารถรองรับปริมาณฝนได้ มีเพียงบางพื้นที่พบว่าระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งเล็กน้อยแต่มีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงซึ่งคงต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด โดยเฉพาะจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นมังคุด ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบในภาคตะวันออก บริเวณลุ่มน้ำปราจีนบุรี นครนายก และบางปะกง โดยคาดว่าในช่วงวันที่ 17 – 19 ก.ย.นี้จะมีฝนตกมากขึ้น ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงทำให้การระบายลงแม่น้ำบางปะกงออกสู่ทะเลจะทำได้ยากขึ้น จึงได้ประสานหน่วยเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการระบายน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบในพื้นที่น้ำท่วมขังโดยเร็วเพื่อรองรับน้ำก้อนใหม่ด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา สทนช.ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยทำการผันน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีความพร้อมที่จะรับน้ำก่อน และต้องควบคุมการระบายน้ำในระดับที่เหมาะและไม่ส่งผลกระทบ พร้อมกับติดตามสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลหลากลงไปสมทบกับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้