‘นิด้าโพล’ ชี้คนไทยเห็นด้วยใช้ ‘บัตรคนจน’ เบิกเงินสด อยากให้เพิ่มสวัสดิการรักษาพยาบาล

เมื่อวันที่ 16 กันยายน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ? ” จากการสำรวจเมื่อถามถึงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสิทธิจาก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ของรัฐบาล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.60 ระบุว่า ไม่ได้ลงทะเบียน และร้อยละ 34.40 ระบุว่า ลงทะเบียน

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” โดยสามารถเบิกเป็นเงินสดเพื่อนำไปชำระค่าบริการอื่นๆได้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.84 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะได้นำเงินมาใช้จ่ายในส่วนอื่นที่ไม่สามารถใช้บัตรสวัสดิการซื้อได้ และยังมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 17.80 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด สามารถแก้ได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น

เมื่อถามถึงการเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ในระดับใด พบว่า ประชาชน ร้อยละ 12.53 ระบุว่า สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มาก ร้อยละ 32.08 ระบุว่า สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ค่อนข้างมาก ร้อยละ 25.30 ระบุว่า สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ค่อนข้างน้อย ร้อยละ 14.92 ระบุว่า สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้น้อย ร้อยละ 13.73 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เลย และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จะสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ระหว่างคนรวย/คนจน ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.08 ระบุว่า ไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เพราะ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ช่วยเหลือได้เพียงเฉพาะหน้าเท่านั้น

รองลงมา ร้อยละ 28.89 ระบุว่า สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เพราะ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่คนจนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และทำให้ปัญหาความยากจนลดลง

เมื่อถามถึงว่าอยากเสนอให้รัฐบาลเพิ่มสวัสดิการในด้านใดบ้าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.73 ระบุว่า ค่ารักษาพยาบาลรองลงมา ร้อยละ 38.71 ระบุว่า การช่วยเหลืออาชีพด้านเกษตรกรรม ร้อยละ 36.31 ระบุว่า เงินส่งเสริมผู้สูงอายุ/ผู้เกษียณอายุ ร้อยละ 25.94 ระบุว่า ช่วยเหลือการสร้างอาชีพ

ร้อยละ 23.78 ระบุว่า ค่าการศึกษา/ค่าเล่าเรียน/ทุนการศึกษาบุตร ร้อยละ 20.35 ระบุว่า ค่าสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา ระบบขนส่งมวลชน ร้อยละ 10.77 ระบุว่า สวัสดิการสำหรับผู้พิการ ร้อยละ 9.02 ระบุว่า สวัสดิการสำหรับลูกจ้างรายวัน/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 4.71 ระบุว่า จ่ายคืนหนี้ธนาคารของรัฐ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” แตกต่างจาก “นโยบายประชานิยม” หรือไม่ พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.00 ระบุว่า ไม่แตกต่าง เพราะ มีแนวทางในการแก้ไข ช่วยเหลือ ปัญหาความยากจนเหมือนกัน แค่ใช้ชื่อเรียกที่ต่างกัน รองลงมา ร้อยละ 24.02 ระบุว่า แตกต่าง เพราะ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยเพียงอย่างเดียว