‘อุทยานฯเอราวัณ’ พบน้ำเสีย290ลบ.ม.ต่อวัน เตรียมติดตั้งระบบบำบัดงบ3ล้าน

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตรวจวัดคุณภาพแหล่งน้ำและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการจัดการน้ำเสียในอุทยานแห่งชาติเอราวัณ พบอุทยานแห่งชาติเอราวัณ มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสูงสุด 2,000 คนต่อวัน ซึ่งระหว่างเดือนตุลาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2560 มีปริมาณน้ำเสียเท่ากับ 290 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน และปริมาณความสกปรกที่เกิดขึ้น 35 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเฉพาะช่วงเทศกาลแหล่งกำเนิดน้ำเสียในอุทยานแห่งชาติเอราวัณมีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่สามารถรองรับน้ำเสียที่เกิดขึ้นได้เพียงพอช่วงเวลาปกติ แต่ช่วงเทศกาลจะพบปัญหาการจัดการน้ำเสีย

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงประสาน คพ. และองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) จัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการน้ำเสียในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณแก้ปัญหาน้ำเสีย คือ การสำรวจและรวบรวมข้อมูลพื้นฐานอาคารและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อจัดทำสภาพสถานการณ์การจัดการน้ำเสียและจัดลำดับความสำคัญการดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม ถังดักไขมัน รางระบายน้ำ ระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิดที่มีอยู่เดิม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียให้กับสำหรับห้องน้ำ ห้องส้วม ชายและหญิงบริเวณน้ำตก โดยพิจารณาใช้รูปแบบของระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่และติดตั้งเพิ่มเติมให้สามารถรองรับน้ำเสียได้อย่างเพียงพอ ปรับปรุงรางระบายน้ำบริเวณโรงครัวสวัสดิการ โดยพิจารณาใช้รางระบายน้ำแบบปิดเพื่อป้องกันเศษใบไม้ลงสู่รางระบายน้ำแล้วไหลรวมกับน้ำเสียเข้าถังดักไขมัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพของถังดักไขมันและปรับปรุงบ่อดักไขมันบริเวณโรงครัวสวัสดิการ ปรับปรุงจุดล้างถ้วยชามบริเวณลานกางเต็นท์ โดยให้ติดตั้งถังดักไขมันและบ่อพักน้ำเสียรองรับน้ำเสียให้เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยว และสุดท้ายกำหนดรูปแบบการจัดการน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมสภาพในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า โครงการปรับปรุงน้ำเสียในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณจะใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตงานจะเสนอของบประมาณจากเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ประจำปี 2562 และจะอบรมให้องค์ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสีย การติดตั้ง การใช้งานและบำรุงรักษาถังดักไขมัน ระบบบำบัดน้ำเสีย การลดน้ำใช้ และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และการสร้างความเข้าใจดูแลและบำรุงรักษาถังดักไขมันให้กับผู้ประกอบการร้านค้า