โฆษกพม. แจงชัดปมเครือข่ายคนพิการร้องถูก ‘สมาคม-มูลนิธิ’ โกงเงิน

กรณีที่เครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการ ซึ่งได้รับการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรา 33 ซึ่งตัวเลขคนพิการที่ถูกจ้างงานจำนวน 25,000 คน แต่มีการทำงานจริงแค่ 20,000 คน ส่วน 5,000 คน ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิได้รับสวัสดิการการจ้างงานเดือนละ 9,500 บาท จึงถูกสมาคมคนพิการและมูลนิธิช่วยเหลือคนพิการ หักหัวคิวโดยจ่ายให้คนพิการเพียงเดือนละ 500-3,000 บาท

นางสุภัชชา สุทธิพล โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงคือ ปี 2561 มีการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 จำนวน 36,833 คน ซึ่งกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากคนพิการที่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการว่า ถูกสมาคมคนพิการและมูลนิธิช่วยเหลือคนพิการ หักหัวคิวโดยจ่ายให้คนพิการได้รับค่าจ้างเพียง 500-3,000 บาท

“การปฏิบัติตามมาตรา 33 ดังกล่าว หากพบว่าสถานประกอบการไม่ได้ให้คนพิการทำงานจริง เช่น ให้นอนอยู่บ้านโดยไม่ต้องมาทำงาน พก. จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าสถานประกอบการไม่ได้จ้างคนพิการจริงจะเรียกให้สถานประกอบการแห่งนั้นส่งเงินเข้ากองทุนตามกฎหมาย และหากสถานประกอบการดังกล่าวไม่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พก. จะยื่นฟ้องศาลและบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่ง เช่นเดียวกับสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป” นางสุภัชชา กล่าว

ส่วนประเด็นที่เครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการระบุว่า การส่งเสริมอาชีพคนพิการตามมาตรา 35 เกิดการทุจริตในส่วนค่าจ้างวิทยากรและเงินในการจัดฝึกอบรม สร้างความเสียหายถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี โฆษกพม. กล่าวว่า กรณีการปฏิบัติตามมาตรา 35 คือการส่งเสริมอาชีพอิสระให้กับคนพิการ (หรือกับผู้ดูแลคนพิการกรณีที่คนพิการเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนไร้ความสามารถ หรือทำงานไม่ได้) นั้น กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการยื่นขอดำเนินการกับกรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากถูกต้อง กรมการจัดหางานจะเห็นชอบและจะแจ้งมาที่ พก. ว่า สถานประกอบการแห่งนั้นได้ดำเนินส่งเสริมอาชีพให้กับคนพิการแล้วจำนวนกี่คน ชื่ออะไรบ้าง ซึ่ง พก. จะบันทึกเข้าระบบฐานข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมายไว้

หากต่อมามีการร้องเรียนว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้อง พก. จะส่งเรื่องให้กรมการจัดหางานในฐานะที่เป็นผู้ให้ความเห็นชอบโครงการฝึกงานต่างๆ ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากไม่เป็นไปตามที่ได้รับความเห็นชอบ พก. จะแจ้งสถานประกอบการส่งเงินเข้ากองทุนแทน ส่วนความเสียหายที่เป็นตัวเงินที่สถานประกอบการได้จ่ายเงินสนับสนุนโครงการไปก่อนนั้นก็เป็นเรื่องที่สถานประกอบการจะไปว่ากล่าวเอากับผู้รับดำเนินการฝึกอบรมต่อไป

“ส่วนประเด็นที่มีการเรียกร้องความเป็นธรรมและยื่นเรื่องที่ทำเนียบรัฐบาล แต่กลับถูกข่มขู่คุกคาม โดยเจรจาให้รับเงิน 20,000 บาท แลกกับการเซ็นยินยอมไม่ดำเนินคดี เชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐสนับสนุนหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เรื่องนี้ข้อเท็จจริง พก. ไม่เคยทราบเรื่องในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด” นางสุภัชชา กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้กำหนดแนวทางการแก้ไข ดังนี้ 1.ที่ผ่านมามีสถานประกอบการที่ไม่ได้จ้างคนพิการจริงและ พก. ตรวจสอบพบว่าได้ดำเนินการแจ้งให้ส่งเงินเข้ากองทุนแล้วจำนวนหลายราย ดังนั้น หากคนพิการ องค์กรคนพิการ หรือบุคคลอื่นใดพบเห็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย คนพิการถูกเอารัดเอาเปรียบสามารถแจ้งมาที่ พก. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2106-9349-53 เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

2.กรณีที่มีคนพิการร้องเรียนเกี่ยวกับการฝึกอบรมอาชีพนั้น ที่ผ่านมามีการร้องเรียนประมาณ 3 – 4 เรื่อง ซึ่ง พก. ได้ส่งเรื่องให้กรมการจัดหางานตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้มีการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว

3.พก.ได้มีการให้ความรู้กับสถานประกอบการโดยการจัดประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการที่ถูกต้องทั้งในส่วนกลาง และในส่วนภูมิภาคทุกปี และได้มีการชี้แจงให้องค์กรคนพิการ รวมทั้งคนพิการให้ช่วยกันตรวจสอบว่าสถานประกอบการได้ปฏิบัติตามกฎหมายจริงหรือไม่ และคนพิการได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ในการประชุมสัมมนาขององค์กรคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง