ครม.อนุมัติกม.คุ้มครอง ‘ขายฝากที่’ สัญญามาตรฐานป้องกันนายทุนกดขี่

เมื่อวันที่ 18 กันยายน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ดินหลุดมือของประชาชนไปเป็นของนายทุน โดยที่ผ่านมากว่า 90 ปี เรื่องขายฝากจะอยู่ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีความพยายามของรัฐบาลในอดีตที่จะแก้ไขกฎหมายขายฝากตั้งแต่ปี 2516-2517 สมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ จนมาถึงสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่พยายามแก้ไขกฎหมายอีกแต่ไม่สำเร็จ รวมทั้งรัฐบาลนายชวน หลีกภัยด้วย

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายขายฝากครั้งนี้ กำหนดให้การขายฝากที่ดินการเกษตรหรือที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ได้รับการคุ้มครองสัญญา ตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคจากเดิมอยู่ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การทำสัญญาขายฝากต้องทำเป็นหนังสือที่ได้รับการตรวจสอบสัญญาโดยนิติกรหรือพนักงานที่ดินก่อนนำไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน เพื่อให้มีสัญญามาตรฐานไม่ให้นายทุนกำหนดเงื่อนไขเอาเปรียบผู้ขายฝาก ขณะที่เรื่องการทำข้อเพิ่มเติมในสัญญานั้น ต้องได้รับการตรวจสอบจากนิติกรและเจ้าหน้าที่ที่ดินก่อนเช่นกัน หากมีข้อตกลงที่กดขี่ข่มเหงประชาชน จะถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ส่วนการทำสัญญาขายฝากจะต้องมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากสัญญาขายฝากในปัจจุบันพบว่า มีการทำสัญญาขายฝากเป็นระยะเวลา 4 เดือน เพราะตั้งใจที่จะให้ประชาชนทำสัญญารอบใหม่โดยจะคิดค่าทำสัญญาครั้งละ 40,000-50,000 บาท หรือต้องการให้ที่ดินหลุดจำนองโดยเร็ว ขณะเดียวกันร่างพ.ร.บ.ขายฝากฉบับแก้ไขจะกำหนดให้ผู้ซื้อฝากต้องมีหนังสือแจ้งผู้ขายฝากให้รับทราบล่วงหน้า 6 เดือน ก่อนที่จะถึงเวลาที่จะต้องเอาเงินมาคืนตามสัญญา ถ้าไม่แจ้งให้ยืดเวลาสัญญาออกไปอีก 6 เดือน ส่วนดอกเบี้ยต้องคิดไม่เกิน 15% ต่อปี

รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชนภายใน 10 ปี ได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ ประชาชนจำนวน 2.6 ล้านครัวเรือน มีความมั่นคงในอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.04 ล้านล้านบาท โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) กรมป่าไม้และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า