‘กรมควบคุมโรค’ ชี้นกพิราบแหล่งรวมเชื้อโรค เตือนห้ามประมาทไข้หวัดนก

เมื่อวันที่ 20 กันยายน นายสัตวแพทย์พรพิทักษ์ พันธ์หล้า ผู้อำนวยการกองควบคุมและภัยสุขภาพภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีสั่งให้แก้ปัญหานกพิราบในพื้นที่สาธารณะว่า ปัญหาของนกพิราบ โดยเฉพาะโรคที่มากับนกนั้น ในลักษณะกายภาพที่เด่นชัดคือ ในตัวนกพิราบจะมีไรอยู่ ทุกครั้งที่กระพือปีกก็จะเกิดการฟุ้งกระจาย ละอองดินและไร ซึ่งคนที่มีอาการภูมิแพ้อยู่ใกล้ชิดสามารถแสดงอาการได้ ประกอบกับตัวนกพิราบเองถือได้ว่าเป็นพาหะนำโรคเชื้อราต่างๆ รวมถึงแบคทีเรีย ซึ่งในตัวนกจะสามารถเก็บเอาสะสมเชื้อต่างๆไว้ เช่นแบคทีเรียซาลโมเนลลา ทำให้เกิดท้องเสีย อุจจาระร่วง

น.สพ.พรพิทักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การรวมตัวกันเป็นฝูงของนกพิราบยัง มีเรื่องของมูลนกที่สะสมเอาทั้งเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งจะกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ส่งผลให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบบางชนิด เช่น ในสหรัฐอเมริกา ที่มีนกพิราบเป็นพาหะได้รับเชื้อไวรัสเข้าไป จากนั้นยุงกัดนก แล้วไปกัดคนต่อ ส่งผลต่อทำให้คนได้รับเชื้อ และป่วยได้

ขณะเดียวกันโรคที่ไม่ควรมองข้ามและถือว่าอันตรายมากคือไข้หวัดนก หากเป็นในกรณีสัตว์เลี้ยงทั่วไป หรือนกสวยงามย่อมได้รับการดูแลอย่างดี แต่กรณีให้อาหารและเลี้ยงนกในที่สาธารณะต้องยอมรับว่านกเหล่านั้นไม่ได้รับการตรวจโรคและดูแลสุขภาพ ยิ่งรวมกันเป็นฝูง ทำให้นกเสี่ยงต่อการติดเชื้อรับเชื้อร่วมกันและสามารถแพร่สู่คนเดียวได้