แนะผู้มีอาการ ‘วิตกกังวลฟุ้งซ่าน’ ร่วม ‘ท้องเสียใจสั่น’ นานเกิน6เดือนให้พบแพทย์

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชของประชาชนไทย นอกจากโรคทางจิตแล้วยังมีในกลุ่มของโรควิตกกังวล (anxiety disorders) ซึ่งผู้ป่วยจะมีจิตใจแปรปรวนอ่อนไหวง่าย บ่อยคือ โรควิตกกังวลทั่วไป (general anxiety disorder) ซึ่งในคนปกติทั่วไปอาจเกิดความวิตกกังวลได้ เช่น กังวลเรื่องลูกไปโรงเรียน เรื่องการเข้าทำงานใหม่ แต่ว่าจะเป็นไม่นาน อาการจะหายไปเอง แต่ในผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป จะมีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน เด่นชัด คือ คิดฟุ้งซ่าน กลัวและกังวล ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น มีอาการใจลอย ตกใจง่าย ไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้คิดได้ และจะมีอาการทางกายปรากกฎร่วมด้วยอย่างน้อย 3 อย่าง เช่น กระสับกระส่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดตึงกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่ต้นคอ ไหล่ หลัง ใจเต้นเร็วและแรง หายใจไม่อิ่ม ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย มือเท้าเย็น นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เป็นต้น

ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2556 พบประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคนี้ร้อยละ 0.3 คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 140,000 คน สาเหตุของโรควิตกกังวลทั่วไปเกิดมาจากความผิดปกติทางจิตใจหรือความไม่สมดุลย์ของสารสื่อประสาทในสมอง เป็นโรคที่ประชาชนไทยมักเข้าใจผิดกันบ่อย คิดว่าผู้ป่วยแกล้งทำ หรือคิดว่าเกิดมาจากตัวเองคิดมากไปเอง ไม่ได้เจ็บป่วย จึงไม่ไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อรักษาแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งโรคนี้มียารักษา และต้องใช้วิธีการบำบัดทางจิตสังคมร่วมด้วยเพื่อปรับความคิดและพฤติกรรมควบคู่กัน ที่น่าเป็นห่วงก็คือการซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากินเองเพื่อแก้ไขอาการที่ตัวเองเป็น เช่นนอนไม่หลับ ความกังวล ปวดศีรษะ ซึ่งจะมีผลเสียมากกว่า