‘ขนส่ง’ โต้รถตู้หยุดวิ่งมีไม่ถึง1,800คัน พร้อมจัดสินเชื่อ-ขยายเวลาเปลี่ยนรถถึง30ก.ย.62

จากกรณีที่ชมรมรถตู้โดยสารปรับอากาศร่วมบริการสาธารณะเขตกรุงเทพมหานครฯ และปริมณฑล ประกาศหยุดวิ่งรถตู้โดยสารกว่า 1,800 คัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 61 เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไม่อนุมัติการขยายอายุใช้งานรถตู้ที่กำลังจะหมดอายุใช้งานสิ้นเดือนกันยายนนี้ เพราะว่ามีอายุใช้งานรถเกิน 10 ปี

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม  เปิดเผยว่า สถิติจำนวนรถตู้โดยประจำทางทั่วประเทศ ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 16,694 คัน จะมีรถตู้โดยสารประจำทางกรุงเทพและปริมณฑล (หมวด 1 และหมวด 4 กทม) ที่มีอายุการใช้งานครบ 10 ปี ในปี พ.ศ. 2561 จำนวน 969 คัน แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวว่ารถตู้หยุดวิ่งพร้อมกัน 1,800 คันนั้นเป็นข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

นายพีระพล กล่าวว่า เนื่องจากพบว่ามีปัญหาสภาพรถตู้ที่ทรุดโทรมเนื่องจากมีอายุใช้งานเป็นเวลานาน มีการใช้งานรถอย่างต่อเนื่องจนขาดการบำรุงรักษาที่เหมาะสม และเกิดอุบัติเหตุแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป ดังนั้น เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพการให้บริการ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้มีมติเมื่อการประชุมครั้งที่ 8/2551 วันที่ 6 พ.ค. 51 กำหนดให้รถตู้โดยสารประจำทางมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก สำหรับรถตู้โดยสารประจำทางที่อยู่ในระบบและมีอายุใช้งานเกิน 10 ปี ให้ดำเนินการเปลี่ยนรถใหม่ภายในวันที่ 1 มิ.ย. 53

ขบ. ได้ดำเนินการจ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินโครงการศึกษาการกำหนดอายุการใช้งานรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกในภาพรวม เมื่อปี 2553 จากผลการศึกษาพบว่า รถตู้โดยสารสาธารณะควรมีอายุใช้งานไม่เกิน 10 ปี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้โดยสาร ลดการก่อมลพิษทางอากาศ และไม่มีความคุ้มทุนทางด้านเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาเพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากได้รับการเรียกร้องให้พิจารณาขยายอายุการใช้งานรถตู้โดยสารจาก 10 ปี เป็น 15 ปี ขบ. จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะทำงานแก้ไขปัญหาจากการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร เมื่อ 13 ก.ย. 61  โดยมี พล.ม.2 รอ. เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติให้คงเงื่อนไขอายุการใช้งานรถตู้โดยสาร 10 ปี ตามกฎหมายเดิม เนื่องจากรถตู้โดยสารมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง รถเก่าจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และไม่มีความคุ้มทุน

รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การดำเนินการของกรมการขนส่งทางบก เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะเป็นรถโดยสารขนาดเล็กที่มีมาตรฐานความปลอดภัย ขบ. จึงได้เสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง (ในการประชุมครั้งที่ 5/2560 เมื่อ 21 มิ.ย. 60 และครั้งที่ 7/2560 เมื่อ 7 ก.ย. 60) เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ดังนี้ 1.ห้ามเพิ่มรถตู้โดยสารในเส้นทางรถโดยสารประจำทางทุกหมวด ตั้งแต่ 21 มิ.ย. 60 2.กำหนดมาตรการการเปลี่ยนทดแทนรถตู้โดยสารประจำทางคันเดิมที่หมดอายุ ดังนี้ ก) การนำรถตู้โดยสารมาเปลี่ยนทดแทน ต้องดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถให้แล้วเสร็จภายใน 30 ก.ย. 60 ข) ตั้งแต่ 1 ต.ค. 60 ต้องนำรถตู้โดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐาน มาเปลี่ยนทดแทนเท่านั้น  ซึ่งรถโดยสารขนาดเล็กที่นำมาเปลี่ยนจะต้องมีระบบห้ามล้อแบบ ABS ( Anti-lock Brake System) หรือระบบห้ามล้อแบบอื่นที่มีมาตรฐานเท่ากันหรือสูงกว่า พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor) ตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งกำหนด

ส่วนกรณีเส้นทางหมวด 1 หมวด 4 ในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาค ให้ขยายเวลาการนำรถ ตู้โดยสารมาเปลี่ยนทดแทนรถตู้โดยสารคันเดิมได้ถึง 30 ก.ย. 62 และ กรณีเส้นทางหมวด 3 ที่ไม่มีจุดจอดรับ – ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง ให้ขยายเวลาการนำรถตู้โดยสารมาเปลี่ยนทดแทนรถตู้โดยสารประจำทางคันเดิมได้ถึง 30 ก.ย. 62

“เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถโดยสารขนาดเล็กที่มีมาตรฐาน ขบ. ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บขส., ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เมื่อ 28 มิ.ย. 61 ภายใต้โครงการ “เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กแทนรถตู้โดยสาร” โดยมีวงเงินกู้ต่อราย 20 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด MRR-1.5% ต่อปี และสามารถใช้ บสย.ค้ำประกันเต็มวงเงินแทนการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมทั้งยังให้สินเชื่อเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันภัยรถโดยสาร และประกันชีวิต วงเงินกู้โครงการรวม 2,000 ล้านบาท”นายพีระพล กล่าว

นอกจากนี้ ขบ. ได้แก้ไขระเบียบการขอจดทะเบียนเป็นรถนั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (ป้ายฟ้า) ให้รถตู้โดยสารที่ปลดระวาง สามารถนำไปจดทะเบียนใช้งานเป็นการส่วนตัวได้โดยสะดวกแล้ว ส่วนมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ กรณีที่มีการหยุดวิ่งของรถตู้โดยสาร ขบ. สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 41 ของ พรบ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อสั่งเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถ เวลา และจำนวนเที่ยวของการเดินรถ หรือให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่งรถที่ตนได้รับอนุญาตไปช่วยเหลือเป็นการชั่วคราวตามควรแก่กรณี

ทั้งนี้ ขบ. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พล.ม.2 รอ., ขสมก., บขส. และตำรวจ เพื่อเตรียมการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ในวันจันทร์ที่ 24 ก.ย. 61 เวลา 13:00 น. ณ กรมการขนส่งทางบก