เร่งออกประกาศป้องกันความเสียหายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เมื่อวันที่ 28 กันยายน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชิญคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าและเร่งขับเคลื่อนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ณ ทำเนียบรัฐบาล

ภาพรวมจากรายงานสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ ปี 60 พบว่า สถานภาพแนวปะการังฝั่งอันดามัน มีความเสียหายมากกว่าฝั่งอ่าวไทย มีขยะมูลฝอยใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล เกิดขึ้น 11.47 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติกถึง 3.4 แสนตัน โดยร้อยละ 10 – 15 มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ทะเล ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งยาว 704 กม. มีการก่อสร้างรุกแนวชายฝั่งทะเล 70 กม. แนวโน้มทรัพยาการทางทะเลเปลี่ยนแปลงไปจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าธรรมชาติ โดยเฉพาะบริเวณเกาะแก่งสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ มีกิจกรรมการใช้ประโยชน์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง สัตว์น้ำและระบบนิเวศทางทะเลมากขึ้น

ที่ประชุมเห็นชอบการออกประกาศของ ทส. เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่เกาะไข่ใน เกาะไข่นอกและเกาะไข่นุ้ย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และพื้นที่เกาะราชาใหญ่ เกาะราชาน้อย อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ ซึ่งมอบให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินการต่อไป

พล.อ.ประวิตร กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมรณรงค์ขับเคลื่อนลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ เปลี่ยนไปในเชิงอนุรักษ์และหวงแหนท้องถิ่นร่วมกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยขอให้รณรงค์และให้ความรู้กับประชาชนในภาพรวม และ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล และกทม. อย่างจริงจังต่อเนื่องกันไป

พร้อมทั้งย้ำ ขอให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถือเป็นหน้าที่สำคัญเร่งด่วน ที่จะต้องนำผลประชุมทางนโยบายร่วมกันขับเคลื่อนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งระบบในภาพรวม โดยให้เร่งรัดจัดทำแผนแม่บทการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งปี 62-69 ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญ

จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ผ่านมา ควบคู่กับการคาดการณ์สถานการณ์อนาคต และขอให้พิจารณาเร่งออกประกาศมาตรการคุ้มครองความเสียหายของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จากการประกอบการท่องเที่ยวและกิจกรรมดำน้ำที่มีกว่า 5 ล้านรายต่อปี โดยให้ครอบคลุมทุกหมู่เกาะที่ได้รับผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบโดยเร็ว ขอให้มีการจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครอบคลุมทั่วถึงควบคู่กับการรณรงค์สร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในทุกระดับ เพื่อให้เราทุกคน สามารถมีและใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกันอย่างยั่งยืน