กยศ.ไล่บี้ลูกหนี้กองทุนกู้ยืม ปีหน้าเริ่มหักเงินเดือนลูกจ้างเอกชน9แสนราย

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการหักเงินเดือนของลูกหนี้ที่ทำงานในหน่วยงานต่างๆ ตามพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้องค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นผู้กู้ยืมเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนว่า กยศ.ได้ประสานกับหน่วยงานข้าราชการ เเละได้เริ่มนำร่องหักเงินเดือนผู้กู้กยศ.ที่ทำงานในกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานเเรกไปเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และในเดือนหน้าจะเริ่มหักเงินเดือนของผู้กู้ที่อยู่ในทุกหน่วยราชการที่ผ่านระบบจ่ายตรงของกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีจำนวนกว่า 2 เเสนคน

ขณะที่ต้นปีหน้าจะเริ่มหักเงินเดือนผู้กู้ที่อยู่ในหน่วยงานเอกชนกว่า 8-9 เเสนคน โดยจะหักกับบริษัทที่มีพนักงานมากที่สุด มีจำนวนหลักเเสนคน อย่างบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี เเละข้าราชการท้องถิ่นกว่า 2 เเสนคน กยศ.ยืนยันในจุดยืนที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายในการหักเงินเดือนให้ได้มากที่สุด เพื่อรับเงินกลับเข้ามาหมุนเวียนในกองทุน ลดปัญหาการติดค้างชำระหนี้ คาดว่าภายใน 1 ปี กยศ.จะหักผู้กู้ได้ในทุกหน่วยงาน ส่วนลูกหนี้ที่ไม่ได้ทำงานในหน่วยรัฐเเละเอกชนที่มีกว่า 1 ล้านคน เเละมีจำนวนหนึ่งที่ยังตามตัวไม่เจอ กยศ.ก็ไม่ได้ละเว้น จะต้องฟ้องร้องบังคับคดี แต่ถึงอย่างไร ปัจจุบันกยศ.สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ได้ เราขอหมายเลขโทรศัพท์ของทุกคนเพื่อติดตามหนี้ได้มากขึ้น

ขณะที่ภาพรวมในการชำระหนี้คืนดีขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กยศ.ไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณให้การให้ทุนเด็กเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี และในช่วงปีที่ผ่านมามีผู้กู้เข้ามาติดต่อขอชำระหนี้กยศ.เป็นจำนวนมากขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่าตัว ทำให้ได้รับเงินคืนกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท เเละคาดว่าปีหน้าจะทะลุ 3 หมื่นล้าน เเต่ขณะเดียวกันก็ยังมีหนี้เสียซึ่งเป็นเงินต้นที่ผิดนัดชำระหนี้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท จากที่ให้กู้ไปประมาณ 5 เเสนล้านบาทจากจำนวนลูกหนี้กว่า 5 ล้านคน โดยเเบ่งเป็นลูกหนี้ที่เสียชีวิต 5 หมื่นคน ปิดบัญชีไปแล้วราว 9 เเสนคน อยู่ระหว่างปลดหนี้ 1 ล้านคน อยู่ระหว่างผ่อน 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ผิดนัด 2 ล้านคน เเละได้มีการฟ้องไปแล้ว 1 ล้านคดี

ส่วนปัญหาต่างๆที่เจอในหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งกรณีของครูวิภาที่มาค้ำประกันให้เด็กกว่า 60 คน ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลในรอบ 10 ปี พบว่ามีผู้กู้ 2.5 ล้านคน ผู้ค้ำส่วนใหญ่จะเป็นพ่อเเม่เเละเครือญาติ ในส่วนของคุณครูมีมาค้ำประกันอยู่เเค่ร้อยละ 0.17 หรือประมาณ 4,000 คนเท่านั้น ส่วนกรณีการปลอมเเปลงเอกสารของผู้อื่นเพื่อมากู้เงินนั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่กู้ไป โดยในปีนี้พบเกิดขึ้นเพียง 2 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยการนำเอกสารต้นฉบับไปเทียบกับรายมือผู้กู้ ถ้าไม่ตรงกันก็ไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้นั้นให้ไปดำเนินคดีอาญาได้เลย ขณะที่ในปีการศึกษา 2563 กยศ.จะปรับเเละพัฒนาระบบการทำสัญญากู้ยืมใหม่ เปลี่ยนเป็นทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ ใช้กระดาษให้น้อยที่สุด เพราะปัจจุบันกยศ.มีภาระในการจัดเก็บสัญญากว่า 17 ล้านฉบับ