‘คุณหญิงหน่อย’ ปลุกแก้รธน.ให้เป็น ‘รัฐธรรมนูญเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ’

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาตร์พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เมื่อวันที่ 9 พ.ย 2562 ลงในเฟซบุ๊ก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan โดยมีเนื้อหาดังนี้

แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้เป็น “รัฐธรรมนูญเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ”

วันนี้ได้มาบรรยายให้พี่น้อง นิสิตที่กำลังเรียนปริญญาเอก ในสาขาพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอีกครั้ง เป็นหลักสูตรเดียวกับที่หน่อยเรียนจบเมื่อปี 2561

ดุษฎีนิพนธ์ที่หน่อยเขียนในเวลานั้นคือหัวข้อ “พุทธวิธีเชิงบูรณาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการเมืองไทยในปัจจุบัน” ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากพรรคการเมืองต่างๆ นำไปประยุกต์ปรับใช้กับการบริหารจัดความความขัดแย้งทางการเมือง ก็จะสามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับชาติบ้านเมืองได้

หน่อยถือโอกาสนำหลักพุทธธรรมที่เคยเขียนในดุษฎีนิพนธ์กลับมาขบคิด ทบทวน ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า เป้าหมายใหญ่ ต้องเป็นไปเพื่อเขียน “รัฐธรรมนูญเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ” ให้เกิดขึ้นจริง

(1) รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง

แม้แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ซึ่งเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเองยังปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของตนเองไม่ได้ ตั้งแต่เป็นรัฐบาล คสช.ก็ต้องออก ม.44 ยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญหลายครั้ง จนกระทั่งเป็นรัฐบาลปัจจุบันก็ยังคงทำตามรัฐธรรมนูญของตัวเองไม่ได้

(2) จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ?

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำได้โดยวิธีง่ายๆ คือการแก้ ม.256 มาตราเดียว เพื่อปลดล็อคให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ นำไปสู่การเลือกตั้ง สสร.หรือสภาร่างรัฐธรรมูญ ที่มาจากทุกสาขาอาชีพ และจากพื้นที่ทั่วประเทศ มาเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ตัวอย่างที่สำเร็จมาแล้วคือการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2540 จนขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยแท้จริง เป็นผลจากการเปิดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนของประชาชนผ่านตัวแทนจังหวัด ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ ทั้งยังได้สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างหนักแน่ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์จากประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ

(3) เป้าหมายใหญ่ : “รัฐธรรมนูญเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ”

ถ้าทุกพรรคการเมืองมีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ ตั้งใจทำกฎกติกาของประเทศให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ มิใช่ทำเพื่อคนบางกลุ่มอย่างในปัจจุบัน ก็จะสามารถใช้วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็น “วาระแห่งชาติ”

วาระที่ทุกคนทุกพรรค รวมทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และคณาจารย์ผู้รอบรู้ทั้งหลาย มาร่วมมือกันหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งของประเทศ สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย ร่วมกันเขียน “รัฐธรรมนูญเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ” ให้เกิดขึ้นจริง

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างความมั่นคงและอนาคตให้คนไทย กระจายโอกาสและรายได้ให้ประชาชนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ลดการใช้อำนาจและทุนการผูกขาดประเทศจนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่สูงมากอย่างในปัจจุบัน

(4) แก้รัฐธรรมนูญ ใครจะเป็นประธานกรรมาธิการ ?

สำหรับตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ทุกคนทุกพรรคมีสิทธิ์เสนอตัวเข้ามาทำหน้าที่

แต่ผู้เสนอตัวมาทำหน้าที่ประธานควรต้องแสดงวิสัยทัศน์ และให้ “สัญญาประชาคม” กับประชาชนว่าจะมาทำหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังด้วยวิธีการและขั้นตอนอย่างไร เพื่อแก้ไข ม.256 ซึ่งจะปลดล็อคให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ให้มีการเลือกตั้ง สสร.หรือสภาร่างรัฐธรรมูญ ทำให้เกิดตัวแทนจากประชาชนทั้งประเทศ

ถ้าทำเช่นนี้ได้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นรัฐธรรมฉบับประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่ฉบับเน้นสืบทอดอำนาจแบบที่สาธารณะชนจดจำกันอยู่ในเวลานี้

(5) เพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ ต้องไม่มีวาระแอบแฝง

หน่อยขอเสนออีกว่า บุคลที่จะเป็นประธานกรรมาธิการ ผลักดันแก้ไข รธน.60 ต้องไม่มีวาระแอบแฝง หรือ ต้องการเป็นประธานเพื่อมาป่วนและขัดขวางการแก้ไข “รัฐธรรมนูญเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ” ในครั้งนี้

ดังนั้นจึงขอพี่น้องประชาชนช่วยกันจับตาดูพฤติกรรมของแต่ละพรรคการเมืองในการตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ให้ดีๆว่าจะมีความจริงใจในการเดินหน้าแก้ รธน. แค่ไหนด้วยนะคะ

ในช่วงท้ายของการบรรยาย หน่อยได้ย้ำกับน้องๆ นิสิต ป.เอกด้วยว่า การสร้าง “ประชาธิปไตยแบบธรรมาธิปไตย” เป็นเรื่องสำคัญ

เพราะหมายถึงการสร้าง “ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ” และ “ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม” ให้เกิดขึ้นจริงในสังคม

ซึ่งทั้งสองเงื่อนไขนี้ เป็นทั้งเรื่องยาก เรื่องท้าทาย และเป็นเรื่องที่หากจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการสร้าง “จุดหมายร่วม” ที่เป็นหลักการใหญ่ๆ ซึ่งจะประสานงาน ประสานประโยชน์คนไทยทุกฝ่ายเข้าด้วยกันได้

และก็ด้วยการสร้าง “การมีส่วนร่วมทางการเมือง” ที่หนักแน่น เพราะหากรัฐธรรมนูญไม่ยึดโยงกับประชาชน ก็จะขาดพลังในการโน้มน้าวให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข หนักไปกว่านั้นคือเอาแต่เอื้อประโยชน์ คสช. และทุนผูกขาด นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งรังแต่จะขยายรอยร้าวในสังคมให้เพิ่มมากขึ้น