‘แผนแม่บท’ หรือ ‘แผนอยากทำ’ ?

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยแพร่บทความลงในเฟซบุ๊ก มานะ นิมิตรมงคล เรื่อง “แผนแม่บท หรือ แผนอยากทำ” โดยมีรายละเอียดเนื้อหาดังนี้

สองคำถามใหญ่สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ คือ

หนึ่ง ทำไมสนามบินหลักของชาติแห่งนี้จึงตกต่ำลงเรื่อยๆ จากเคยได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสนามบินคุณภาพอันดับ 10 ของโลก กลับร่วงสู่อันดับที่ 46 ในปีนี้

สอง ทำไมสุวรรณภูมิจึงมีข่าวและมีคดีเกี่ยวกับคอร์รัปชันและผลประโยชน์ทับซ้อนจำนวนมากนับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างมาจนถึงวันนี้ เป็นที่เข้าใจกันดีว่า หน่วยงานใดก็ตามหากใช้อำนาจอย่างผูกขาด ใช้ดุลพินิจเอื้อพวกพ้อง ไม่เป็นธรรม จะนำไปสู่คอร์รัปชันและผลประโยชน์ทับซ้อนจนสร้างความเสียหายและบ่อนทำลายศักยภาพระยะยาวของหน่วยงานนั้นเอง ยิ่งเป็นยุคที่มีการใช้อำนาจการเมืองปิดกั้น หน่วยงานนั้นจะยิ่งไม่โปร่งใส ละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้บริหารขาดความรับผิดชอบ เพราะสื่อมวลชนและสังคมไม่สามารถตรวจสอบพวกเขาได้เต็มที่

บางทีคำอธิบายนี้อาจเป็นคำตอบให้กับสองคำถามข้างต้นก็ได้ วันนี้ตั้งใจนำเรื่อง “แผนแม่บท” ที่เคยเขียนไว้มาให้ท่านที่สนใจได้อ่าน ส่วนใครที่ใคร่รู้มากขึ้นถึงแนวทางการจัดทำแผนแม่บทสนามบินที่เป็นสากล ขอให้เปิดอ่านตามลิ้งค์ที่แนบท้ายมานะครับ

“แผนแม่บท” ที่ดีต้องกำหนดขึ้นจากประสบการณ์ การเรียนรู้ การวิเคราะห์และคาดการณ์ตามหลักวิชาการอย่างตกผลึก โดยคำนึงถึงทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในวันนี้และอนาคต คือมองอย่างองค์รวม ดังนั้นแผนแม่บทจึงต้องทำอย่างเป็นกระบวนการด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ เพื่อกลั่นกรองจนเกิดหลักประกันความสำเร็จระยะยาว

มิฉะนั้นจะเป็นแค่ “แผนอยากทำ” คือทำเพราะอยากใช้เงินภาษีและทรัพยากรของรัฐไปลงทุนมากๆ ตามแนวคิดหรือผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องที่แอบแฝงอยู่ สุดท้ายความผิดพลาด การรั่วไหลและคอร์รัปชันจะตามมา เมื่อถึงวันนั้นโอกาสและความคุ้มค่าของทรัพยากรของชาติที่หมดไปก็คือความสูญเสียของชาติ

จริงอยู่ แผนแม่บทแม้จะไม่ใช่คัมภีร์วิเศษที่แตะต้องแก้ไขไม่ได้ แต่ถ้ามันเริ่มต้นไว้ดีแล้ว วันข้างหน้าก็ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอะไรให้ผิดแผกไปมากนัก เพราะมักมีการลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบสาธารณูปโภคไปรองรับตามแผนนั้นแล้ว พูดง่ายๆ คือกำหนดโครงร่าง ทิศทางไว้ ใครจะมาทำอะไรต่อเมื่อศึกษาดูก็จะเข้าใจไม่ผิดเพี้ยน

ส่วนการขยายสนามบินเฟสสองมูลค่าราว 4.2 หมื่นล้านบาทที่กำลังถูกทักท้วงจากสังคมอย่างกว้างขวางว่าขาดความเหมาะสมหลายอย่าง เพราะมุ่งใช้แต่ประสบการณ์และรับฟังความเห็นความต้องการของหน่วยราชการด้วยกันและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น สายการบินและธุรกิจท่องเที่ยว (ดูเอกสารประกอบ 2-4)

แต่ไม่ใส่ใจเท่าที่ควรกับการศึกษาเสนอแนะจากสถาบันที่เป็นกลางอย่างองค์กรวิชาชีพด้านวิศวกรและสถาปนิก ที่เป็นเสาหลักทางความรู้ของประเทศไทย..

อย่างนี้จะเรียกว่าอย่างไรดีครับ