ปมที่ดินต้องห้ามลาม! ‘ศรีสุวรรณ’ ร้องปปช.สอบ 2 สส.ภูมิใจไทย 1 พปชร.

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2562 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้อง ต่อ ป.ป.ช. ให้ไต่สวน สอบสวนเอาผิด ส.ส.สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมี ภ.บ.ท.5 อยู่ 2 แปลง 200 ไร่ ส.ส.เกียรติ เหลืองขจรวิทย์ ส.ส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย มี ส.ป.ก. 3 แปลง 67 ไร่ มี ภ.บ.ท.5 ถึง 13 แปลง 133 ไร่ และ ส.ส.อนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคพลังประชารัฐ มี ภ.บ.ท.5 อยู่ 2 แปลง 498 ไร่ โดยที่อาจจะขาดคุณสมบัติของการมีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งที่ดิน ภ.บ.ท.5 นั้นเป็นเพียงเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภาษีดอกหญ้า) ซึ่งท้องถิ่นจะจัดเก็บ ไม่เกี่ยวกับว่าใครเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน เพราะเจ้าของที่ดินก็ยังคงเป็นของทางราชการอยู่ เพียงแต่อาจจะให้มีการใช้ประโยชน์ชั่วคราว แต่ไม่ถือว่าผู้ที่ใช้ประโยชน์นั้นเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งปัจจุบันมีคำสั่งกรมการปกครองเมื่อปี 2551 ได้สั่งให้ยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว เพราะปัญหาคือ ส่วนมากเป็นที่ป่าสงวน การแจ้งเสียภาษีก็แจ้งกันเองโดยไม่รังวัด บางรายครอบครองเป็นร้อยเป็นพันไร่ บุกรุกป่าทั้งนั้น ซึ่งที่ดินประเภทดังกล่าว ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 676/2519 กำหนดบรรทัดฐานไว้ว่า “ผู้ที่มีชื่อในใบเสร็จเสียเงินบำรุงท้องที่เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้เสียภาษีเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานแสดงว่าผู้นั้นมีสิทธิครอบครอง”

อีกทั้ง ตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พ.ศ.2562 ของ ส.ส.ทั้ง 3 ราย ปรากฏโดยชัดแจ้งว่ามีทรัพย์สินและรายได้ต่อปีเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการขัดต่อ พรฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเป็นเกษตรกร พ.ศ.2535 และมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2555 ได้กำหนดอัตรารายได้ของผู้ยากจนไว้ คือ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อคนต่อปีเท่านั้น

ดังนั้น ส.ส.ทั้ง 3 คนซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนฝ่ายนิติบัญญัติ ย่อมรู้ว่าตนเองเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติของการได้สิทธิในการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. หรือ ภ.บ.ท.5 ดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น แต่กลับไม่ยอมสละที่ดินดังกล่าวคืนให้รัฐเพื่อนำไปจัดสรรให้กับผู้ยากไร้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเท่ากับว่าอาจมีเจตนาที่จะทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนกฎหมายอันเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ 2561 อย่างร้ายแรงในข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 9 และยังเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลักในข้อ 11 ข้อ 12 ข้อ 17 และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมทั่วไปในข้อ 21 ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.219 บัญญัติอีกด้วย สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความมาร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวน สอบสวน เพื่อดำเนินการเอาผิดหรือลงโทษ ส.ส.ทั้ง 3 คนต่อไป