‘ทิพานัน’ รองโฆษกพปชร. : ‘คุณธนาธรมักร้องขอโอกาส แต่เมื่อมีโอกาสกลับไม่ใช้มัน’

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัครส.ส.กรุงเทพ และรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก โต้แย้งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีหุ้นวีลัคมีเดีย โดยโพสต์ของ นางสาวทิพานัน มีรายละเอียดดังนี้

ข้อสังเกต : ความเบาหวิวเหลือทนของคำอุทธรณ์ฎีกานอกศาล

เมื่ออ้นอ่านข้อสังเกตเกี่ยวกับคำวินิจฉัยคดีวีลัคของศาลรัฐธรรมนูญ โดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 และกลับไปอ่านทวนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2562 อีกครั้งนั้น ด้วยความเคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและพิจารณาถึงข้อความที่คุณธนาธรเขียนอธิบายข้อสังเกตตนเอง อ้นขอแสดงความคิดเห็นตั้งข้อสังเกตดังนี้

1.หากจะเทียบข้อสังเกตของคุณธนาธรเป็นคำอุทธรณ์ฎีกา (นอกศาล) นั้น ศาลคงไม่รับฟ้องอุทธรณ์ฎีกาเพราะไม่มีพยานหลักฐานใหม่มานำสืบพิสูจน์หักล้างให้น่าเชื่อได้ว่า คุณธนาธรโอนหุ้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 62 จริง ข้อสังเกตเกือบ 6,000 คำที่เขียนมาจึงขาดน้ำหนักความน่าเชื่อถือที่จะหักล้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพราะไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมใหม่ที่เป็นพยานหลักฐานที่ไร้พิรุธว่ามีการโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562

โดยสรุปจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ทั้งพยานหลักฐานเอกสารและพยานบุคคลที่มาให้ถ้อยคำนั้น ไม่มีเอกสารหลักฐานใดที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคุณธนาธรที่มาจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอกเพื่อพิสูจน์ยืนยันว่ามีการโอนหุ้นกันจริงในวันที่ 8 ม.ค. 62 ได้เลย เช่น การแจ้งเปลี่ยนข้อมูลในใบ บอจ.5 การนำเช็คค่าหุ้นไปขึ้นเงินกับธนาคารเพื่อมีหลักฐานระบุวันที่ขึ้นเงินใกล้เคียงวันโอนหุ้น หรือแถลงข่าวพร้อมภาพถ่ายระบุวันที่แบบที่เคยทำตอนเซ็น MOU เรื่อง Blind Trust

เอกสารหลักฐานที่คุณธนาธรนำส่งศาลล้วนเป็นเอกสารภายในที่อาจทำย้อนหลังขึ้นเองและพยานบุคคลต่างๆ ที่มาให้ถ้อยคำก็ล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดของคุณธนาธร เช่น บุคคลในครอบครัว พนักงานขับรถส่วนตัว ทนายความของพรรคอนาคตใหม่ และพนักงานบริษัทเครือไทยซัมมิท ทุกคนสามารถให้การเจือสมสอดคล้องกับเอกสารหลักฐานที่นำส่งศาลได้

ในวันที่ 8 ม.ค. 62 คุณธนาธรมีเอกสารจากบุคคลภายนอก เช่น ใบเสร็จทางด่วน ใบสั่งขับรถเกินความเร็วกำหนดมายืนยัน ศาลจึงเชื่อว่าคุณธนาธรอยู่ กทม. จริง แต่สำหรับการโอนหุ้นในวันดังกล่าวกลับมีแต่เรื่องบังเอิญที่ทำให้คุณธนาธรไม่มีพยานหลักฐานจากบุคคลภายนอกที่เป็นกลางมาสืบให้ศาลเชื่อว่าโอนหุ้นจริงได้ คุณธนาธรไม่มีพยานที่ไม่รู้จักคุณธนาธรเป็นการส่วนตัวมาให้ถ้อยคำต่อศาล ดังนั้นน้ำหนักพยานหลักฐานของคุณธนาธรจึงเบาบางเหลือเกิน
ซึ่งถ้าเทียบกับเรื่อง Blind Trust ก็เป็นเรื่องบังเอิญที่น่าแปลก วันที่มีรูปถ่ายการลงนาม MOU มีการแถลงข่าวกลับไม่ได้มีการโอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust จริง ในขณะที่วันที่ 8 ม.ค. 62 ที่คุณธนาธรอ้างว่าโอนหุ้นบริษัทวี-ลัคและบริษัทในเครือรวม 14 บริษัทจริงกลับไม่มีรูปถ่ายซักใบ (อ่าน “8 ม.ค.62 ‘ธนาธร’โอนหุ้น 11 บ. แต่รับเช็คเฉพาะ‘วี-ลัค มีเดีย’แห่งเดียวจาก‘สมพร’” https://www.isranews.org/isranews-s…/81656-report-81656.html)

2.#สำหรับประเด็นที่1 ที่คุณธนาธรตั้งข้อสังเกตเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของ กกต. และอำนาจพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ นั้น คุณธนาธรตั้งประเด็นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ กกต. ไว้พิจารณาเป็นการตรวจสอบ “คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.” และการตรวจสอบ “คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.” มาปะปนกัน
การตั้งประเด็นแบบนี้จึงน่าคิดว่าเหมือนกันคล้ายๆ ว่าคุณธนาธรจะยอมรับกลายๆ ว่า “ณ วันที่ 6 ก.พ. 62 ที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. คุณธนาธรขาดคุณสมบัติเพราะยังถือหุ้นวีลัคอยู่ แต่วันที่ 24 มี.ค. 62 ที่เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. นั้นคุณธนาธรมีคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ครบถ้วนเพราะได้โอนหุ้นวีลัคไปแล้ว”

ความเห็นส่วนตัวของอ้นเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าศาลไม่ได้ตรวจสอบปะปนกัน เพราะศาลได้วินิจฉัยตามคำร้องขอของ กกต. ผู้ร้อง ที่ขอให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของคุณธนาธร ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตาม รธน. มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ซึ่งมาตรา 101 (6) บัญญัติว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98” ดังนั้นจึงชัดเจนว่า “การมีลักษณะต้องห้ามในฐานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ นั้นเป็นลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย” ศาลไม่ได้ตีความเกินเลยแต่อย่างใด เป็นไปตามคำร้องขอของ กกต. และตัวบทกฎหมายชัดเจน

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นชัด ก็เช่น ที่ทำงานแห่งหนึ่งประกาศรับสมัครงาน ซึ่งกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครไว้ว่าต้องจบปริญญาตรี นาย ก. ได้ยื่นใบสมัครพร้อมวุฒิการศึกษาปลอมในวันสมัครแล้วได้รับคัดเลือกเข้าทำงาน แม้ต่อมาเมื่อทำงานไปแล้วเพียง 3 วัน นาย ก.จะจบการศึกษาจริง มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีจริงมายื่น ก็ไม่ทำให้การขาดคุณสมบัติในวันสมัครมันถูกลบล้างไปได้ นาย ก.จึง ต้องพ้นสภาพการเป็นพนักงานและเสี่ยงโดนที่ทำงานฟ้องเป็นคดีข้อหาใช้เอกสารปลอม

3.#สำหรับประเด็นที่2 ที่คุณธนาธรอ้างว่า ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำอธิบายถึงเจตนารมณ์ของการบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามกรณีนี้ไว้และเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องเป็นกรณีที่สื่อเช่นว่านั้นยังคงประกอบกิจการอยู่เท่านั้น

ในกรณีนี้ ศาลเห็นว่า แม้บริษัทวีลัค จะหยุดพิมพ์แล้ว ไม่มีพนักงานแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท และยังไม่ได้แจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ ตามมาตรา 18 พรบ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ดังนั้น จึงยังถือเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่เพราะสามารถจะกลับมาดำเนินกิจการ ประกอบการพิมพ์เมื่อใดก็ได้

กรณีนี้สามารถเทียบเคียงได้กับคุณทวีป ขวัญบุรี ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกศาลฎีกาตัดสิทธิการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เพราะยังไม่ได้จดแจ้งยกเลิกแบบเดียวกับคุณธนาธร แม้ว่าจะหยุดพิมพ์หนังสือกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม (อ่าน “เปิดคดีผู้สมัคร ส.ส.ระยอง พปชร. เจ้าของสื่อ – หยุดพิมพ์ 20 ปี ไม่จดเลิก กกต.เชือด”
https://www.isranews.org/isranews-sc…/77115-scoop-77115.html

การที่ศาลพิจารณาเช่นนั้น อ้นเห็นว่าถูกต้องแล้วทั้งตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎหมาย การมีใบอนุญาตฯ อยู่ทำให้เจ้าของใบอนุญาตมีความสามารถตามกฎหมายพิมพ์อะไร พิมพ์เมื่อใดก็ได้ ซึ่งหากบริษัทวีลัคประสงค์จะเลิกกิจการสื่อและหยุดพิมพ์ เหตุใดจึงไม่แจ้งยกเลิกตามมาตรา 18 พรบ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ซึ่งจะเป็นระยะเวลาก่อนวันที่ 30 ธ.ค. 62 (คำนวณจากกำหนด 30 วันหลังจากวันสุดท้ายที่พิมพ์นิตยสาร JIBjib เล่มสุดท้าย คือ วันที่ 30 พ.ย. 61)

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ลองนึกภาพ หากเราต้องการป้องกันอันตรายในการขับขี่รถยนต์ของบุคคลไร้ความสามารถ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยทั้งตัวผู้ขับขี่เองและผู้อื่น เราคงไม่ทำแค่ริบรถ ริบกุญแจรถ แต่เราคงทำถึงการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของเขา เพราะแค่เขาไม่มีรถ เขายังสามารถใช้ถนน ขับขี่รถโดยถูกกฎหมายได้โดยอาจยืม/เช่ารถคนอื่นมาขับเมื่อใดก็ได้เพราะเขายังมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อยู่ แล้วแบบนี้เขาและผู้อื่นก็ยังมีโอกาสได้รับอันตรายได้

4.สำหรับข้อสังเกตของคุณธนาธร #ในประเด็นที่3 การพิสูจน์หักล้างพยานหลักฐานที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมาย และประเด็นที่ 4 การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลรัฐธรรมนูญนั้น อ้นเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอีกเช่นกัน คุณธนาธรควรกลับไปทำความเข้าใจถึงข้อแตกต่างของหลักการพิจารณาคดีแบบกล่าวหากับแบบไต่สวนให้ถ่องแท้และไม่เอามาใช้สับสนกันไปมา รวมถึงศึกษาวิธีการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีวิธีการเฉพาะ มีบัญญัติไว้ในชัดเจนในพรป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และ ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562

5.#บทสรุป ข้อสังเกตของอ้น คือ คุณธนาธรมีความถนัดในการตั้งข้อสังเกตหรือข้อวิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ฝ่ายเดียว โดยให้ข้อมูลหรือความคิดเห็นต่อสังคมที่มาจากคุณธนาธรฝ่ายเดียว คุณธนาธรมักร้องขอโอกาสแต่เมื่อมีโอกาสกลับไม่ใช้มัน คุณธนาธรร้องขอให้ศาลนัดไต่สวนพยานบุคคล และศาลก็ได้โอกาสและให้เวลาเตรียมตัวล่วงหน้า แต่เมื่อถึงวันไต่สวนพยาน ในเวลาที่คุณธนาธรมีโอกาสที่จะนำเสนอข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองนั้น คุณธนาธรกลับจำข้อมูลไม่ได้ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ ล่าสุดที่คุณธนาธรมีความพยายามที่จะเข้ามาใน กมธ. พิจารณาร่าง พรบ. งบประมาณ และเมื่อได้มีโอกาสเข้ามาแล้ว คุณธนาธรก็ชิงลาออกกลางครัน ซึ่งหากจะอดทนและตั้งใจ ไม่รีบด่วนลาออก ก็เชื่อว่าคุณธนาธรจะได้ข้อมูลจาก กมธ. ชุดดังกล่าว เช่น งบประมาณของทหารที่มีรายละเอียดครบถ้วน ผ่านการอภิปราย โต้แย้งด้วยเหตุผล มีการชี้แจงข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้คุณธนาธรสามารถมาอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ถูกต้องชัดเจนมากกว่าการแสดงความเห็น วิจารณ์งบดังกล่าวอาจจากทำความเข้าใจอยู่คนเดียว

FAREwell #โชคดีในการเดินทาง