ควันหลงรัฐบาลคว่ำตั้งกมธ.ศึกษา ม.44 ‘ปิยบุตร’ จับตาเกมยื้อญัตติ แก้รัฐธรรมนูญ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์เรื่อง “ควันหลงรัฐบาลคว่ำตั้ง ” กมธ.ศึกษา ม.44 – จับตายื้อญัตติ “แก้รัฐธรรมนูญ””ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2562 โดยมีรายละเอียดดังนี้

เมื่อวานผมได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงมติญัตติด่วน เรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตาม ม.44 ซึ่งผมและคณะเป็นผู้เสนอ โดยก่อนลงมตินั้นเกิดการวอล์คเอ้าท์เป็นครั้งที่ 3 ของพรรคฝ่ายค้าน ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการนับคะแนนใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการนับองค์ประชุม แม้สมาชิกฝ่ายค้านจะไม่แสดงตนแล้วก็ตาม แต่จำนวนสมาชิกในการนับองค์ประชุม 261 คน เพียงพอ ที่จะทำให้การประชุมเพื่อลงมติญัตติดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้ และที่สุดก็มีมติ 244 ต่อ 5 ไม่เห็นชอบ ให้ตั้ง กมธ.วิสามัญ ชุดดังกล่าวนั้น

เหตุผล “วอล์คเอ้าท์” เพราะรัฐบาลไม่รู้จักคำว่า “แพ้”
เริ่มต้น ขออธิบายสาเหตุที่สมาชิกฝ่ายค้านวอล์คเอ้าท์นั้น เป็นการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยที่เสียงข้างมากของพรรคฝ่ายรัฐบาลขอนับคะแนนใหม่ เพราะญัตตินี้มีการลงมติแล้ว ซึ่งเราชนะ ดังนั้นก็ควรได้ตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้ เหตุการณ์ในสภาจะไม่วุ่นวาย ถ้าฝ่ายรัฐบาลรู้จักคำว่าแพ้ แต่ทั้งนี้ ที่วุ่นวายเพราะฝ่ายรัฐบาลมีการขอนับคะแนนใหม่ ดังนั้น ฝ่ายค้านเราเป็นเสียงข้างน้อย กลไกแสดงออกได้คือทางนี้ นั่นคือไม่ร่วมสังฆกรรมในการนับคะแนนใหม่ ทั้งๆ ที่ถ้าคำนวนคะแนนบางทีเราอาจชนะก็ได้ แต่ขอยืนยันว่า ถ้านับคะแนนใหม่แบบนี้เราไม่ร่วมด้วย เราต้องชนะตั้งแต่แรกแล้ว ที่ผล 234 ต่อ 230

จับตา “ผู้เสนอให้” -จะไม่เกิดถ้าไม่คิด “สืบทอดอำนาจ”
สำหรับกรณีเรื่องของคนโหวตสวนหรือแหกมติพรรค สื่อมวลชนพยายามจับตา และแต่ละพรรคก็เฝ้าระวัง แต่อยากชี้ให้มองมุมกลับไปทาง “ผู้เสนอให้” อยากให้สื่อมวลชนติดตามฝั่งนี้ด้วย เพราะถ้ามีอยู่จริง จับได้ แล้วเอามาเปิดเผยจะเป็นประโยชน์ต่อการเมืองไทยอย่างมาก เพราะเหตุการณ์แบบนี้ เชื่อว่าจะเกิดขึ้นแทบทุกสัปดาห์ในการลงมติ เพราะโครงสร้างรัฐธรรมนูญแบบนี้ ที่ให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีได้ ปรากฏการณ์เสนอผลประโยชน์ต่างๆ นั้น เป็นผลพวงต่อเนื่องโดยตรงจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากสืบทอดอำนาจ เพราะถ้าปล่อยปกติ ลงจากหลังเสือสวยงามก็ไม่เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้น นี่เพราะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ต้องหาเสียงมาเติมอยู่เรื่อยๆ ซึ่งดูแล้วจะเอาการเมืองไทยย้อนกลับไปสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งพรรคสหประชาไทยเมื่อครั้งใช้รัฐธรรมนูญ 2511 ย้อนไปสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช้รัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งขณะนี้ ปี 2562 แล้ว อยากให้สื่อมวลชนจับตาว่าใครดึงการเมืองไทยถอยหลังเข้าคลอง

ใช้ กมธ.สามัญศึกษา เน้นปัญหาตัวกฎหมายไม่ใช่บุคคล
อยากฝากถึงพี่น้องประชาชนที่คาดหวังให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้ แม้ไม่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่า กมธ.สามัญชุดที่ผมเป็นประธาน คือ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน จะเดินหน้าพิจารณาศึกษา ทบทวนเรื่องนี้แทน เพราะเมื่อเสียงข้างมากรัฐบาลไม่ยอมให้ตั้ง กมธ. วิสามัญ เราจำเป็นต้องใช้กลไกอื่นที่มีอยู่ ซึ่งล่าสุดผมเพิ่งลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง อนุกรรมาธิการว่าด้วยการศึกษา ปฏิรูป และทบทวนแก้ไขกฎหมาย นั่นคือกฎหมายทั้งหมด รวมทั้ง พ.ร.บ. ที่ออกในสมัย สนช.ด้วย ซึ่งหวังว่าทางฝ่ายรัฐบาลคงไม่ขัดข้อง เพราะถ้าขัดข้องอีก แสดงว่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลไม่เคารพการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรเลย เพราะท่านพูดเองให้ กมธ. สามัญเดินหน้าศึกษาได้ เราก็ต้องเดินหน้าตามขอบเขตที่มี เราศึกษาตัวกฎหมาย ประกาศคำสั่งฉบับไหนมีปัญหาอย่างไร ไม่ได้เน้นไปที่ตัวบุคคล

เหลือ 2 ชม.แต่สั่งปิดประชุม- ยื้อเวลาเปิดญัตติ “แก้ รนธ.” หรือไม่?
สุดท้าย เรื่องญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งวันนี้ ในฐานะคนเสนอญัตติ ผมต้องได้อภิปรายแถลงเปิดญัตติ ซึ่งก็ได้เตรียมเอกสารและรอการอภิปรายไว้แล้ว แต่ปรากฏว่า ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลขอให้ปิดประชุม และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งทำหน้าที่ประธานก็ปิดประชุมเสียดื้อๆ ซึ่งเวลานั้น เพิ่งจะ 1 ทุ่ม เหลือเวลาอีกถึง 2 ชั่วโมงตามเวลาการประชุมปกติ ซึ่งถ้าเปิดญัตตินี้ได้ สัปดาห์หน้าก็จะได้ว่ากันต่อ แต่พอไม่ให้เปิดญัตติแบบนี้ นั่นหมายความว่า สัปดาห์หน้าจะมีเรื่องอื่นมาแทรกอีกหรือไม่ และถ้ามีจนญัตติศึกษาแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เข้า คิดว่าสังคม รวมถึงคนเสนอญัตติ ก็สามารถที่จะคิดได้ว่าถูกยื้อไม่ให้มีการตั้งอีกแล้ว

เล็งแก้ข้อบังคับการประชุมให้ชัดเจน ป้องกันนำมาใช้จนระบบสภาพัง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้ร่วมกันลงชื่อ เสนอ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยสาระสำคัญคือ ให้มีการแก้ไข ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 85 โดยจะแก้ไขให้เขียนระบุเหตุแห่งการขอนับคะแนนใหม่ให้ชัด และกำหนดวิธีการนับคะแนนใหม่ด้วยการขานชื่อเฉพาะ ส.ส. ที่ลงคะแนนไปแล้วเท่านั้น ไม่ใช่เอาคนมาเพิ่ม มาเติมอีกได้ ทั้งนี้ เพราะมีความกังวลใจว่า ถ้าไม่แก้ไข จะมีการนำข้อบังคับนี้มาใช้กันอีกเรื่อยๆ จนการทำงานในระบบรัฐสภาเสียหาย