‘ความตายเฉียบพลัน’ กับ ‘ติดคุกฉับพลัน’ โลกสองใบมาพบกัน

เล่าไว้เพื่อเตือนภัย หัวใจเฉียบพลันจะมาแบบไม่รู้ตัว มาเร็ว ไปเร็ว ถ้าตัดสินใจช้า มัวรีๆรอๆ คิดว่าไม่เป็นอะไรมาก หมอที่ทำบอลลูนยังบอกว่าแอ๊วมาช้าไปนิด แต่ยังทัน

อาการเจ็บหน้าอกของแอ๊ว เตือนตอนตีห้า แต่กว่าจะตัดสินใจมาหาหมอที่ รพ.กาญจนบุรีเมโมเรียล ก็มีอาการยืนไม่ไหวแล้ว จึงตัดสินใจไป รพ.แต่ก็สายมากแล้ว ดีว่ายังทัน

การตัดสินใจย้ายโรงพยาบาล การตัดสินจ่ายเงินขณะที่ถูกต่อรองด้วยสิทธิการเข้าโรงพยาบาล ๓ วันแรก หรือ ๗๒ ชม.ไม่ต้องจ่ายถ้าจะย้ายไป รพ.อื่น ก็ต้องตัดสินใจจ่าย มิฉะนั้นจะย้ายช้าไป เพราะเที่ยงคืนแล้ว เพื่อนหมอผู้สูงวัย โทรมาจากหาดใหญ่ บอกอาจารย์ต้องฟ้องเพื่อรักษาสิทธิของประชาชนให้ได้ ผมเองไม่เคยฟ้องใคร ได้แต่ถูกเขาฟ้องในคดีการเมืองเกือบ ๑๐ คดีแล้ว เลยบอกไปว่าจะปรึกษาหมอวิชัย โชควิวัฒน กับเพื่อนหมอที่เป็นต้นคิดเรื่องนี้ดู

และเมื่อจะต้องย้ายไปต่ออีกเพราะความดันลด อ๊อกซิเจนของแอ๊วในเลือดต่ำ ต้องทำบอลลูนให้เร็วที่สุด ยาเริ่มจะเอาไม่อยู่แล้ว ต้องย้ายไป รพ.ที่ทำได้ อยู่ห่างไป ๑๒๐ กม.จากตัวเมืองกาญจนบุรี เข้ากรุงเทพฯ มี รพ.ให้เลือก ๓ แห่งก็มีเรื่องเงินถูกต่อรองอีกว่าค่าใช้จ่ายเกือบล้านบาท จะต้องจ่ายล่วงหน้า ๓ แสน เพราะ รพ.คาดการณ์แบบสูงสุด ว่าต้องทำบอลลูนถึง ๓ เส้นและอาจต้องติดเครื่องไฟฟ้าช่วยหัวใจด้วยและต้องจ่ายเป็นเงินสด ก็ต้องตัดสินใจ เพราะตีสามของวันที่ ๔ แล้ว

ดีว่าโลกทุนนิยมสมัยใหม่สร้างระบบบัตรเครดิตไว้ให้ใช้ รวบรวมจากของลูกชายด้วยได้ ๕ ใบวงเงินพอ ๓ แสนทำให้ตัดสินใจย้ายตอนตี ๔ ได้ทันไปทำบอลลูนตอน ๖ โมงเช้าของวันที่ ๔ ธค. ขอบใจโลกทุนนิยมด้วยนะ

ทันทีที่ถึง รพ.วิชัยเวช ที่มีหมอวัฒนา บุญสม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ รออยู่แล้ว

รพ.ใจดี เห็นเราพยายามรูดเงินบัตรเครดิต บัตรโน่นบัตรนี่ ทำท่าจะไม่ได้ครบ ๓ แสน เลยเอาแค่ ๒ แสนสี่ก็ได้ ขณะที่แอ๊วถูกส่งตัวเข้าทำบอลลูนแล้ว ๑ เส้น

สิทธิบัตรทอง บัตรผู้สูงอายุ บัตร ๓๐ บาท สิทธิ ๓ วันแรก มีทั้งดีและเป็นอุปสรรค ในกรณีความตายเฉียบพลันรออยู่ตรงหน้า ต่อความเป็นความตาย ต้องตัดสินใจ

นี่เป็นครั้งแรกอีกครั้งหนึ่งของการตัดสินใจอย่างเร็วๆ

คิดถึงคนจนกว่าเรา คนขาดพวก ขาดเพื่อน ขาดเงินสด ขาดบัตรเครดิต คงไม่สามารถตัดสินใจได้เร็วเท่ากับกรณีนี้

ความตายก็จะมาเยือน เหมือนกรณีการประกันตัวนักโทษในคดีอาญา ติดเงินค่าประกัน ติดช่วงวันหยุด ติดเวลาราชการศาล ๕ โมงเย็น

ถ้าปรับตัวไม่ทันก็เดินเข้าคุกอย่างเดียว

ตอน ๒ ทุ่มในเรือนนอนที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร จะมีนักโทษเดินผ่านหัวพวกเราเข้าไปในห้องลูกกรงเหล็กต่างๆ ซึ่งมี ๑๐ ห้องเพราะประกันตัวไม่ได้บ้าง ศาลตัดสินโทษแล้วบ้าง

เรานอนห้องยาว พวกนักโทษใหม่ต้องเดินผ่านพื้นปูนที่นอนของเรา ไปตามช่องเดินระหว่างคนนอนแคบๆ มีอยู่เกือบร้อยคน บางคืนร้อยกว่า ในห้องอื่นๆมี ๓๐ กว่าๆ

ต้องคอยเอาตีนหลบทางเดิน ลุกขึ้นนั่ง เพื่อเปิดทางเดินให้กว้างขึ้น บางคืนเจอนักโทษฝรั่งเข้ามาใหม่ ไม่ยอมรับกติกาการใช้ส้วม การนอนในที่แคบๆของห้องขัง ๓๐ กว่าคน จาก ๑๐ ห้อง และห้องนอนกลางยาวไปเท่าห้องขัง ๕ ห้อง กระหนาบซ้ายขวา ข้างละ ๕ ห้อง

คืนนั้นห้องขัง ก็จะมีความวุ่นวายอยู่สักชั่วโมงสองชั่วโมง จึงเอาฝรั่งอยู่และสงบลงได้ ทุกคนนอนหลับฝันดีฝันร้าย ท่ามกลางแสงไฟ และลมจากพัดลมอ่อนๆที่เริ่มหมดแรงเพราะความเก่า

ผมนึกถึงนักบินในยานอวกาศ ที่อยู่ในที่แคบแบบพวกเรานักโทษ ก็ต้องฝึกหนักก่อนบิน แต่อารมณ์ความรู้สึกนั้นแตกต่างกันแน่ นักบินอวกาศถือเป็นวีรบุรุษ

แต่เรานักโทษถือเป็นพวกขยะสังคม หรือพวกเดนตาย และก็จะตายแน่ๆถ้าหัวใจเฉียบพลันแบบแอ๊ว ตอนอยู่ในคุก ระหว่าง ๓ โมงครึ่งตอนเย็น ถึงรุ่งสาง ๖ โมงเช้า ด้วยกุญแจเปิดห้องขังอยู่ที่ผู้คุมนอกแดน

ถึงแม้ตามกฎหมาย บอกว่าจำเลยในระหว่างคดี ถือเป็นผู้บริสุทธิ แต่ไม่ได้ประกันตัว ต้องถูกส่งเข้าไปรอในตาราง ก็เสียความบริสุทธิไปทันที

นักบินอวกาศฝึกด้านร่างกายและจิตใจ แต่พวกเรานักโทษไม่ทันได้ฝึกทั้งใจและกาย เพราะมีความหวังลมๆแล้งๆว่าคงไม่ติด คงได้ประกันตัว

เอา ๒ เรื่องมาเปรียบเทียบจากประสบการณ์จริง ทำให้เห็นความจริงของโลกใบนี้ ที่แตกต่างกัน ที่มีช่องว่างระหว่างความรวยกับความจน ได้ทุกเรื่อง จนเกิดความเหลื่อมล้ำอันดับ ๑ ของโลก

มนุษย์จึงพยายามหาโลกใบใหม่ ซึ่งเชื่อว่าจะดีกว่าโลกใบเก่า

กรณีหัวใจเฉียบพลันของแอ๊ว เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๓ ถึงเช้ามืดของ ๔ ธ.ค.๒๕๖๒

กรณีผมกับแกนนำ พธม.เข้าคุกทันที ๑๓ ก.พ.ปีเดียวกัน ออก ๑๐ พ.ค. รวมเกือบ ๓ เดือน แต่ของแอ๊ว อาจได้ออกก่อน ๗ วัน โดยยังคงความดีไว้ได้ แต่พวกผมต้องคงความผิดต่อไปอีก ๕ – ๑๐ ปี หลังถูกจองจำคดีการเมือง ๓ เดือน แพ้คดีแพ่ง ร่วมพันล้านบาท

นี่คือชีวิตจริง

เล่าไว้เป็นกรณีศึกษาของการเป็นเหยื่อในโลกแห่งความอยุติธรรม ? เหมือนนวนิยายของ Victor Hugo “เหยื่ออธรรม – Les Miserables”

“โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน” อมตวาจาของมหาตมา คานธี กำลังรอให้เป็นจริงในโลกใบใหม่

พิภพ ธงไชย เขียนที่บ้านทานตะวัน มูลนิธิเด็ก ณ วันพ่อ ๕ ธ.ค. ๒๕๖๒ FB : Pibhop Dhongchai