สิ้น ‘พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ’ นายพลนักสู้เพื่อชาติเพื่อประชาธิปไตย

นายอมร อมรรัตนานนท์ อดีตแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อช่วงสายของวันที่ 6 ธ.ค.2562 โดยระบุว่า ขอแสดงความเสียใจกับ บรรดาญาติ มิตรสหาย ของ พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ

ท่านใดสิ้นลมหายใจอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
เมื่อเวลา 9.02 น. เช้าวันที่ 6 ธันวาคม 2562

กำหนดการงานศพ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร ศาลา 5

  • พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันเสาร์ที่ 7 ธ.ค.62
  • สวดพระอภิธรรม วันที่ 8-13 ธ.ค.62
  • พระราชทานเพลิง วันเสาร์ที่ 14 ธ.ค.62
  • รายละเอียดอื่นเพิ่มเติม จะแจ้งให้ทราบต่อไป

#นายพลผู้รักชาติรักประชาธิปไตยของกองทัพไทย

สำหรับ พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2478 ที่จังหวัดสุพรรณบุรีจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดทรงธรรม จ.สมุทรปราการ โรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 7 (จปร.7)

พล.อ.ปรีชา เมื่อรับราชการ ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารนักรบ ผ่านสมรภูมิต่าง ๆ มากมาย จนได้เงินเพิ่มสู้รบมากถึง 16 ขั้น ซึ่งนับว่ามากที่สุดในกองทัพไทย

เคยเป็นรองเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก และเป็นที่ปรึกษาของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในฐานะหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการในขณะที่ พล.อ.ชาติชาย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2534

เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ได้ผันตัวเองเข้าทำงานด้านส่งเสริมคุณธรรมและเผยแผ่พุทธศาสนา โดยเป็นที่ปรึกษาและรองประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือที่นิยมเรียกว่า “ศูนย์คุณธรรม” ซึ่งตั้งขึ้นโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2547 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตนายทหารเพื่อนร่วมรุ่นเป็นประธาน นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการและที่ปรึกษาการจัดงานวันวิสาขบูชาโลกในปี พ.ศ. 2550

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้มีชื่อรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในแบบสรรหาด้วย ในฐานะข้าราชการบำนาญของกระทรวงกลาโหม แต่ไม่ได้รับการรับเลือก

พลเอกปรีชา เข้าร่วมกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการชุมนุมเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยได้ขึ้นเวทีปราศรัยอย่างโดดเด่น เพราะมักปราศรัยด้วยวาทะและท่าทีที่ดุเดือด

ช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 พลเอก ปรีชาได้ร่วมกับนายทหารระดับนายพลเกษียณอายุราชการหลายคน ที่เคยเข้าร่วมกับองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) มาก่อน ก่อตั้ง กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ขึ้นมา โดยมุ่งหมายล้มรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มต้นชุมนุมขึ้นที่สวนลุมพินี ร่วมกับคณะสันติอโศกตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ต่อมาในวันที่ 7 ตุลาคม ปีเดียวกัน ทางแกนนำกปท.ได้ตัดสินใจยกระดับการชุมนุมเข้าปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลมิให้ทางรัฐบาลเข้าไปทำงานด้านในได้ ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคงในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ) ขึ้นมาบังคับใช้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รุกคืบเข้ามาขอคืนพื้นที่ชุมนุม จนในวันที่ 10 ตุลาคม ปีเดียวกัน ทางแกนนำกปท. โดย พล.อ.ปรีชา ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีมติที่จะกลับไปชุมนุมยังสถานที่เดิม คือ สวนลุมพินี ยังความไม่พอใจแก่ผู้ชุมนุมบางส่วนที่สมทบกันเข้ามา จึงแยกตัวออกไปชุมนุมต่างหากในชื่อ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)

ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ขึ้นมาที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ทางแกนนำกปท.ก็มีชื่อเป็นคณะกรรมการด้วย และได้ชุมนุมคู่ขนานกันไป โดยในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 ที่ทางกปปส.ได้จัดชุมนุมใหญ่แบบปิดทางแยกสำคัญ ๆ หลายแยกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กปท.ก็ได้ชุมนุมคู่ขนานโดยทำการปิดสะพานพระราม 8 จนถึงแยกวิสุทธิ์กษัตริย์ด้วย

ในวันที่ 14 พฤษภาคม ปีเดียวกัน จากการชุมนุมในครั้งนี้ ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา เพื่อติดตามตัวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย พล.อ.ปรีชามีชื่อเป็นผู้ต้องหาหมายเลขที่ 14.