ธิดา-ที่ปรึกษานปช. เล่าเรื่องพ่อในวันเวลาที่ผ่านมายาวนาน

นางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “เขียนถึงพ่อในวันเวลาที่ผ่านมายาวนาน” เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2562 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ดิฉันเคยเขียนเรื่องของคุณแม่ แต่ยังไม่ได้เขียนเรื่องของคุณพ่อ พอดีไปเปิดดูเรื่องของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ในวิกิพีเดีย ปรากฏว่ามีข้อความที่มีหลานคุณพ่อคนหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีภาวะสาวก พธม. จัดจ้าน ให้สัมภาษณ์ “ผู้จัดการ” เคยเอามาลงและอ้างว่าเป็นพี่ชายดิฉัน ดิฉันเคยลงในเฟสบุ๊คว่าดิฉันไม่มีพี่ชาย มีแต่น้อง 5 คน พี่น้องของดิฉันและคนในครอบครัวไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แต่อาจมีญาติสายคุณพ่อที่ไชยา ท่าชนะ บางคนอาจไม่พอใจดิฉันและครอบครัว เลยลามปามไปถึงคุณพ่อ ดิฉันเลยขอถือโอกาสพูดถึงคุณพ่อในแง่มุมที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้าง

คุณพ่อเป็นลูกหลานชาวนาที่ อ.ไชยา ปู่เป็นลูกจีนไหหลำที่มีแม่เป็นคนไทย แต่ใช่แซ่ตามเตี่ย ตั้งชื่อคุณพ่อเป็นจีนหรือไทยก็ได้ “นายเฮง” แล้วคุณพ่อมาเปลี่ยนเป็น “บัญชา” ตั้งนามสกุล “ถาวรเศรษฐ” พวกลูก ๆ หลาน ๆ ของพี่ชายก็ขอใช้ “ถาวรเศรษฐ” กัน ดังนั้นถ้าใครพบ “ถาวรเศรษฐ” บางคน ที่เกลียด นปช. เกลียดเสื้อแดง เกลียด อ.ธิดา ก็อย่าแปลกใจ เพราะเป็นญาติที่ใช้นามสกุลร่วมกับครอบครัวของคุณพ่อ

คุณพ่อเป็นลูกชาวนาในหมู่บ้าน ต. บ้านสาร อ.ไชยา ใกล้ ต.พุมเรียง ซึ่งอยู่ชายทะเล จึงเข้าใจได้ว่า คนจีนไหหลำซึ่งมาทางทะเล มาขึ้นบกแถวชายฝั่งทะเล เข้ามาอยู่กับคนท้องถิ่นและได้ภรรยาเป็นคนไทย ปู่ชื่อนายซ้าย ย่าชื่อนางชื่น มีนามสกุล ถาวรเศรษฐ ที่คุณพ่อตั้ง ย่าเป็นคนไทยแท้ ปู่เป็นลูกจีนที่มีแม่เป็นคนไทย ดังนั้น คุณพ่อจึงมีส่วนผสมไทยมากกว่าจีนและเป็นชาวนา พี่ ๆ น้อง ๆ ของพ่อก็ทำนาทุกคน โดยได้ส่วนแบ่งจากปู่และย่าจำนวนหนึ่ง คุณพ่อก็ได้ส่วนหนึ่งที่ยกให้พี่สาวเพื่อแลกเป็นทุนเล่าเรียน

การศึกษา คุณพ่อเรียนชั้นประถมที่ อ.ไชยา แล้วไปเรียนมัธยมที่ตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี จานั้นไปเข้าโรงเรียนพาณิชย์ในกรุงเทพฯ เพราะยุคจอมพล ป. ให้คนใน จ.สุราษฎร์ธานีเรียนสายพาณิชย์ตั้งแต่มัธยม จากนั้นคุณพ่อก็เรียนต่อคณะบัญชีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับทำงานช่วงแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ

คุณพ่อเป็นคนเรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 ที่มีโอกาสให้เรียนต่อต่างประเทศ ก็ไม่ได้ไป เรียนธรรมศาสตร์เพราะต้องทำงานไปด้วย ต่อมาก็เข้าทำงานที่ บริษัท ลีเวอร์บราเธอร์ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ตัวจังหวัด แล้วย้ายไปสาขาทุ่งสง แล้วมาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อลูก ๆ โต ต้องเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

คุณพ่อเป็นคนเรียนเก่ง ชอบคนเก่ง ภาษาอังกฤษก็ค่อนข้างดี เพราะ บริษัท ลีเวอร์บราเธอร์ ใช้คนอังกฤษมาตรวจงานสาขาเป็นประจำ ดิฉันจึงจำได้ ที่เห็นการสนทนาที่แคล่วคล่อง คุณพ่ออยู่บริษัทนี้จนเกษียณอาย แล้วมาเปิดร้านขายยา อาจเพราะลูกสาวเรียนเภสัชศาสตร์ถึง 3 คน คุณพ่อเป็นคนซื่อสัตย์ต่อภารกิจ ได้รับการยอมรับ ทำงานในบริษัทเดียวจนเกษียณอายุ ในยุคสงครามและหลังสงคราม บริษัทนี้เปลี่ยนชื่อเป็น “ไทยอินดัสตรี” แล้วมาเป็น บริษัท ลีเวอร์บราเธอร์ ตามเดิม

ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนเก่ง ทางการเมืองคุณพ่อก็เลยชอบเยอรมัน โดยเฉพาะทางการทหาร คุณพ่อรู้จักผู้การเรือดำน้ำเยอรมันจนหมุด ต่อมาเมื่อหลังสงครามโลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็น คุณพ่อก็ชอบอเมริกามาก

เมื่อเข้าสู่ยุค 14 ตุลา 16 ก็ยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ตอนยุค 6 ตุลา คุณพ่อไปฟังยานเกราะมาก ออกจะเชื่อ เมื่อคุณแม่ตัดสินความขัดแย้งที่ลูก ๆ ไปธรรมศาสตร์กันหมดทุกคน ยกเว้นน้องชายที่เป็นนายทหารอยู่ราชบุรี เลยบอกให้คุณพ่อไปยานเกราะเสียด้วย ปรากฏว่าคุณพ่อกลับมาจากยานเกราะแล้วไม่พูดถึงอีกเลย

ดิฉันมีส่วนที่สร้างความเสียใจให้คุณพ่อไม่น้อยเมื่อเข้าป่าไปตอนหลัง 6 ตุลา 19 แต่หลังกลับออกมายังได้มีชีวิตอยู่กับคุณพ่อจนหลังมีลูก 2 คน เมื่อตอนที่ท้องลูกคนโต แล้วมีอาการเท้าบวม คุณพ่อซึ่งไม่ได้เรียนทางการแพทย์เลยได้พูดกับดิฉันและคุณหมอเหวง (กับลูกเขยที่เป็นหมออีกคน) ว่า ระวังจะเป็น pre-eclampsia ลูกเขยหมอ 2 คนมองหน้ากัน แต่หลังจากนั้นดิฉันก็เป็นจริง ๆ เรียกภาษาปัจจุบันว่า ครรภ์เป็นพิษ

ดิฉันได้นิสัยรักการอ่านส่วนหนึ่งจากคุณพ่อ ที่ทิ้งตู้หนังสือไว้ให้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตอนเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และรักวิชาการความรู้ นิยมคนเป็นเลิศทางวิชาการ น่าจะได้มาจากคุณพ่อ หลาน 2 คน คือ นพ.สลักธรรม และ น.ส.มัชฌิมา คงไม่ทำให้คุณพ่อผิดหวังในแง่เป็นคนใฝ่รู้และมีความรู้

ขอให้คุณพ่อไปสู่ภพภูมิที่ดี ในวาระที่ดิฉันมีอายุมากแล้ว เพิ่งได้โอกาสเขียนรำลึกถึงคุณพ่อในปลายปี 62 นี้ ไม่ช้าลูกก็คงถึงวาระที่ต้องจากโลกนี้ไปเช่นกัน แต่ได้ฝากมรดกให้คนรุ่นหลัง เป็นคนใฝ่รู้ มีความรู้ แค่นี้ยังไม่พอ ต้องเป็นคนที่ไม่เป็นภาระต่อสังคม มีส่วนสร้างสังคมที่อุดมปัญญา ก้าวไปข้างหน้า สำหรับดิฉันคือมีความแน่วแน่ที่จุดยืนผลประโยชน์ของประชาชนและมนุษย์โลกที่ทุกข์ยากทั้งมวล