พิษหูฉลาม! ‘ป้อง ณวัฒน์’ นำทัพกลุ่มอนุรักษ์ฯบุกทำเนียบ จี้รัฐบาลสร้างบรรทัดฐานเลิกเสิร์ฟหูฉลาม

วันนี้(11 ธ.ค. 2562 ) เวลา 13.30 น. ป้อง ณวัฒน์ ดารานักแสดงในฐานะทูตองค์กรไวล์ดเอด และองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม 8 องค์กร จะเดินทางไปที่ จุดบริการประชาชน ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กทม. 10300 (ติดกับพิพิธภัณฑ์ต้านโกง) เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึก ขอความร่วมมือรัฐบาล “ฉลองไม่ฉลาม”

สืบเนื่องจากที่งานเลี้ยงอาหารค่ำระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา มีซุปหูฉลามตุ๋นหม้อดิน เป็น 1 ในรายการอาหาร กลายเป็นกระแสที่สาธารณชนให้ความสนใจ องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม 8 องค์กร อันประกอบไปด้วย องค์กรไวล์ดเอด, มูลนิธิสืบนาคะสเถียร, กรีนพีซ ประเทศไทย, กลุ่มเนเจอร์เพลิน, องค์กรชาร์ค การ์เดี้ยน, มูลนิธิรักสัตว์ป่า, สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และแมนตา ทรัสต์ (ประเทศไทย) มีความเห็นพ้องต้องกันว่า การเสิร์ฟเมนูหูฉลาม เป็นตัวอย่างของการสนับสนุนการบริโภคเมนูจากสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ซึ่งการบริโภคเป็น 1 ในภัยคุกคามหลักประการสำคัญที่ทำให้ประชากรฉลามโลกมีจำนวนลดลง บางสายพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และยังส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศในทะเล

ตัวแทนองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม และคุณป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ในฐานะทูตด้านฉลามองค์กรไวล์ดเอด จึงเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความร่วมมือรัฐบาลสร้างบรรทัดฐานใหม่ ในการปกป้องฉลาม ด้วยการเลิกเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐทุกรูปแบบ

WildAid (www.wildaid.org) คือ องค์กรไม่แสวงผลกำไร มีเป้าหมายหลักเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า ผิดกฎหมาย WildAid เน้นรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภค และความต้องการ ซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า โดยเราหวังว่า ผู้บริโภคจะไม่กินหูฉลาม ไม่ซื้องาช้าง นอแรด และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอื่นๆ อีกต่อไป

สำหรับ WildAid หรือ องค์กรไวล์ดเอด ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกกว่า 100 คน ร่วมเผยแพร่ข้อความรณรงค์ ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหา การฆ่าและค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ผ่านสโลแกนหลักขององค์กร “When the Buying Stops, the Killing Can Too หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า ทำงานรณรงค์ที่เอเชียเป็นหลัก ในประเทศที่ยังมีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าสูง และได้ทำโครงการรณรงค์ Ivory Free หยุดซื้องาช้างในประเทศจีน ฮ่องกง และล่าสุดในไทย