‘ไพศาล’ อธิบายหลักกฎหมายมหาชน ถ้าตีความในสิ่งที่กฎหมายไม่ห้าม ‘ว่าทำไม่ได้’ ย่อมเป็นการตีความที่กฎหมายเรียกว่า ‘วิปริต’

นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความคิดเห็นต่อแง่มุมกฎหมายมหาชน ลงในเฟซบุ๊กเมื่อเช้าวันที่ 12 ธ.ค. 2562

โดยนายไพศาล ระบุดังนี้

การตีความกฎหมายมหาชนในเรื่องที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้าม

ว่าทำไม่ได้

ถ้าทำก็ผิดกฎหมายนั้น

เป็นการตีความที่ต้องห้าม!

เพราะกฎหมายมหาชนนั้น

อะไรที่กฎหมายห้ามก็ทำไม่ได้

อะไรที่กฎหมายไม่ห้ามก็ทำได้!!

ต่างกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ซึ่งวางหลักการตีความไว้ในกฎหมายอย่างแน่นอน เป็นอย่างอื่นไม่ได้

ในกรณีที่เป็นที่สงสัย กฎหมายก็ยังวางหลักการตีความไว้ด้วย ว่าต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณกับผู้ต้องเสียหายในมูลหนี้!

สำหรับกฎหมายมหาชนนั้น

ถ้าตีความในสิ่งที่กฎหมายไม่ห้าม ว่าทำไม่ได้

ย่อมเป็นการตีความที่กฎหมายเรียกว่า”วิปริต”

เพราะจะกลายเป็นว่า

สิ่งที่กฎหมายห้ามก็ทำไม่ได้

สิ่งที่กฎหมายไม่ห้ามก็ทำไม่ได้ ก็จะผิดกฎหมายทุกกรณี

นี่คือสิ่งที่เรียกว่าวิปริต

จะทำให้เกิดความวิปริตต่อเนื่องไปเป็นอันมาก เพราะกระทบต่อระบบกฎหมาย ที่จะฟั่นเฟือนไปทั้งระบบ

เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับหนึ่งได้ระบุว่า คนเรานั้น การจะเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันเป็นเรื่องปกติของปุถุชน แต่ต้องไม่กระทบต่อระบบของกฎหมายและความยุติธรรม.