พีระพันธุ์ : ว่าด้วยพรรคการเมืองกู้เงิน ‘ห้ามเดินลัดสนาม’ เราจะ ‘วิ่งลัดสนาม’ ได้หรือ?

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตสมาชิกสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2562 ถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีเงินนายธนาธร  จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191,200,000 บาท 

โดยโพสต์ของนายพีระพันธุ์ มีรายละเอียดดังนี้

ห้ามเดินลัดสนาม!!!

ประเทศไทยเราใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร ภาษาอังกฤษเรียกว่า ระบบ Civil law หมายความว่า กฎหมายต่างๆ จะต้องมีการบัญญัติไว้เป็นตัวหนังสือที่เรียกว่าพระราชบัญญัติหรือประมวลกฎหมาย ข้อเสียของระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรคือการที่ไม่มีทางที่จะเขียนกฎหมายให้ครอบคลุมได้ครบหมดทุกเรื่อง วิธีแก้ไขปัญหานี้ ก็คือต้องตีความกฎหมายตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นหลักสำคัญ

เรื่องการกู้เงินของพรรคการเมืองนั้น วัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ต้องการป้องกันมิให้ “นายทุน” หรือบุคคลใดมามีอำนาจหรือมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองโดยการ “ให้ทุน” ดังนั้น การ “ให้ทุน” แก่พรรคการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่อาจจะทำให้ “ผู้ให้ทุน” มีอำนาจหรือมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองจึงกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นไปตามที่ พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 66 ว่าต้องเป็น “เงินบริจาค” หรือ “ประโยชน์อื่นใด” ที่มีจำนวนเงินหรือมีมูลค่าไม่เกินสิบล้านบาทต่อปีต่อรายเท่านั้น

แม้พรรคการเมืองจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลก็ตาม แต่ก็ต่างจากการเป็นนิติบุคคลของบริษัทจำกัดทั่วไป เพราะพรรคการเมืองมิใช่องค์กรธุรกิจและมิได้มีเจตนารมณ์ที่จะแสวงหากำไรจากการดำเนินการของพรรคการเมือง และพรรคการเมืองไม่มีผู้ถือหุ้นที่มาร่วมกันลงทุนเพื่อแสวงหาผลกำไรจากการดำเนินการของพรรคการเมือง จึงไม่มีเหตุผลและไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่พรรคการเมืองจะต้องกู้ยืมเงินจำนวนมากๆ มาใช้ในกิจกรรมหรือในการดำเนินงานของพรรคการเมืองเช่นเดียวกับนิติบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัด

หากพรรคการเมืองต้องการหา “ทุน” เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแล้ว พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ก็กำหนดให้กระทำได้โดยการ “รับบริจาค” หรือโดยการ “ระดมทุน” ที่ไม่เกินสิบล้านบาทต่อปีต่อราย ซึ่ง “ทุน” ที่ได้มาจากการบริจาคหรือจากการระดมทุนนี้จะเป็นสิทธิ์ขาดของพรรคการเมืองที่จะนำไปใช้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้โดยอิสระ มิใช่เพื่อนำไปลงทุนทางธุรกิจเหมือนนิติบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัด และ “ทุน” ที่ได้รับมานั้นก็มิใช่ “หนี้” ที่พรรคการเมืองจะต้องหา “เงิน” มาใช้หนี้คืนอย่างเช่นการ “กู้เงิน” ของนิติบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัด 

ที่สำคัญคือ หากให้พรรคการเมือง “กู้เงิน” ได้ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้ “นายทุน” เข้ามามีอำนาจหรือมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองได้ง่ายๆ ด้วยการหลบเลี่ยงสถานะและคำเรียกขานจากคำว่า “ผู้บริจาค” หรือ “ผู้ให้ประโยชน์” มาเป็น “ผู้ให้กู้” ได้โดยไม่ต้องจำกัดจำนวนเงิน และยังจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อหา “เงิน” มาชำระ “หนี้เงินกู้” ได้อีกด้วย เช่นนี้แล้ว จะใช่วัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของ พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่

ดังนั้น แม้ไม่มีบทบัญญัติใดของ พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เขียนเรื่องการกู้เงินของพรรคการเมืองไว้ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของ พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 แล้ว การ “ให้เงิน” แก่พรรคการเมืองไม่ว่าในรูปแบบของ “การให้กู้เงิน” หรือในรูปแบบอื่นใด ก็จะต้องถือว่าเป็นการให้ “เงินบริจาค” หรือ “ประโยชน์อื่นใด” แล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป และหากมีจำนวนเงินหรือมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อปีต่อรายแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็น “เงินบริจาค” หรือเป็น “ประโยชน์อื่นใด” ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 66 แห่ง พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งหากพรรคการเมืองรับเงินหรือประโยชน์เช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเรียกว่า “เงินกู้” หรือเรียกว่าอะไรก็ตาม ก็ต้องถือว่าพรรคการเมืองนั้นรับ “เงินบริจาค” หรือ “ประโยชน์อื่นใด” แล้วแต่กรณี โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดตามมาตรา 72 แห่ง พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ตอนที่ผมเรียนกฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์สอนวิธีง่ายๆ ในการตีความกฎหมายลักษณ์อักษรตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ว่า เวลาที่เราเห็นป้ายปักอยู่ตามขอบสนามหญ้าที่เขียนเพียงว่า “ห้ามเดินลัดสนาม” เราจะ “วิ่งลัดสนาม” ได้หรือไม่ ก็ลองพิจารณากันดูนะครับ

อย่างไรก็แล้วแต่ การตีความกฎหมายก็เป็นเรื่องสองคนยลตามช่อง ทุกคนก็เชื่อในความคิดของตนเอง สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ขาดครับ.