‘ปิยบุตร’ ชี้ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันเป็น ‘ผลพวง’ จาก ‘รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ’

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ว่าด้วยเรื่อง #เสียบบัตรแทนกัน อาการของ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ผลร้ายของรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ

เมื่อช่วงหลายวันที่ผ่านมามีกรณีที่น่าสนใจเกิดขึ้นในที่ประชุมสภา นั่นคือการ #เสียบบัตรแทนกัน ของ ส.ส. ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้กลายเป็นที่ถกเถียงและจับตากันของหลายฝ่ายว่าจะส่งผลอย่างไรต่อ พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว กฎหมายจะมีปัญหาหรือเปล่า และประเทศไทยจะมีงบประมาณใช้หรือไม่

ผมขอเล่าถึงกรณีของประเทศฝรั่งเศสก่อน ว่ามีบทบัญญัติเป็นข้อบังคับไว้ชัดเจนว่า ส.ส. อาจมอบอำนาจให้ ส.ส. คนอื่นลงคะแนนแทนได้ ในกรณีดังนี้ :

1) ป่วย​ อุบัติเหตุ​ เหตุร้ายแรงเกี่ยวกับครอบครัว
2) ติดภารกิจชั่วคราวที่มอบหมายโดยรัฐบาล
3) ติดภารกิจทางทหาร
4) สภามอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับภารกิจด้านต่างประเทศของสภา
5) อยู่ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ​ สำหรับกรณี ส.ส. ในเขตเลือกตั้งนอกดินแดนฝรั่งเศสหรือดินแดนโพ้นทะเล
6) เหตุสุดวิสัย​ ตามที่สำนักงานสภาฯ เห็นชอบ

แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้นข้อบังคับการประชุมสภาในข้อที่ 80 เขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่าการออกเสียงลงคะแนนไม่สามารถทำแทนกันได้ นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยในประเด็นการออกเสียงลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกรณี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อโครงสร้างพื้นฐานในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย ไว้ในปี 2556-2557 ว่า…

“การกระทำดังกล่าว นอกจากจะเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 แล้ว ยังขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริต ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิญาณตนไว้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียง ในการออกเสียงลงคะแนน มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมพิจารณานั้น เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อกระบวนการออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรในกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันมีผลให้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

ซึ่งแท้จริงแล้วผมก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางคำวินิจฉัยแบบนี้ เพราะเห็นว่าหากมีกระบวนการการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่ชอบ ก็ควรต้องตัดเอาคะแนนที่ไม่ชอบนั้นออกไปเท่านั้น ไม่ใช่ทำให้ร่างกฎหมายทั้งฉบับนั้นต้องตกไปเพียงเพราะมีการเสียบบัตรแทนกันแค่ไม่กี่คน โดยเฉพาะเมื่อตัดคะแนนที่ไม่ชอบออกไปแล้วไม่มีผลทำให้คะแนนเสียงข้างมากเปลี่ยนข้าง(ส่วนการลงโทษทางวินัยต่อผู้กระทำผิดนั้นควรเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่จะพิจารณาลงโทษ)

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญมีแนวทางคำวินิจฉัยปัดตกทั้งฉบับเช่นนี้มาแล้วในอดีต ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปเช่นกันว่าจะวินิจฉัยกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้อย่างไรบ้าง? รอดหรือไม่รอด? พระราชบัญญัติจะตกไปเพราะกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่เคยวินิจฉัยไว้ในอดีตหรือไม่? และรัฐบาลจะมีทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?

แต่ที่แน่ๆ คือข้อเสนอที่ชี้โพรงให้รัฐบาลออกงบรายจ่ายประจำปีเป็น “พระราชกำหนด” แทน “พระราชบัญญัติ” นั้นทำไม่ได้แน่นอน เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ก็บัญญัติเอาไว้ชัดเจนว่าต้องออกเป็น “พระราชบัญญัติ” เท่านั้น

และตามที่คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ความเห็นว่าหากศาลรัฐธรรมนูญปัดให้กฎหมายงบประมาณตกไปทั้งฉบับนั้น ก็ให้ยกเอารัฐธรรมนูญมาตรา 143 มาใช้ โดยถือว่าหากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วัน ให้ถือว่าเห็นชอบและดำเนินการต่อไป แต่ผมก็เห็นว่าเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะกรณีที่เกิดขึ้นนั้นไม่เข้ากับมาตรา 143 เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว จนตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัจริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ (แต่มามีปัญหาเรื่องความชอบของขั้นตอนที่มา) ซึ่งกรณีนี้ทั้งหมดไม่ใช่กรณีตามมาตรา 143 แน่นอน การกระทำทำเช่นนี้จะขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน

แต่ทั้งหมดนี้ที่ผมเล่าไป ผมอยากให้ทุกท่านได้คิดและมองภาพที่กว้างกว่านั้น ที่ว่าลักษณะการทำโจ๋งครึ่มเป็นล่ำเป็นสันกันกลางสภาเช่นนี้เกิดจากอะไร?

ผมเห็นว่าลักษณะเช่นนี้เป็น “อาการ” และ “ผลพวง” ของการที่รัฐบาลชุดนี้เป็น “รัฐบาลเสียงข้างมากแบบปริ่มน้ำ” อันเป็นผลร้ายของ “รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ” ที่ออกแบบมาให้เป็นมีเสียงปริ่มน้ำ มีพรรคร่วมหลายพรรค มีบางครั้งที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตในสภา ทำให้ต้องเข้มงวดกวดขันให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลทุกคนต้องมาโหวต ไม่เช่นนั้นถ้าผิดพลาดไปนิดเดียวก็อาจจะแพ้โหวตฝ่ายค้านอีกได้

การ #เสียบบัตรแทนกัน จึงเกิดขึ้นอยู่เป็นนิจ.