‘วัฒนา’ ยกเหตุผล 3 ประการ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลปลด ‘เสรีพิศุทธ์’ พ้นประธานกมธ.ป.ป.ช.ไม่ได้

นายวัฒนา เมืองสุข สมชิกพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

การที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลได้เข้าชื่อกันยื่นญัตติขอปลดพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ออกจากการเป็นกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญ ป.ป.ช. นั้น ผมเห็นว่าทำไม่ได้ด้วยเหตุผล ดังนี้

(1) การเป็นกรรมาธิการสามัญนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรคแปดบัญญัติว่า “จะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร” ดังนั้น การได้มาซึ่งสิทธิการเป็นกรรมาธิการสามัญจึงเป็นไปตามจำนวน ส.ส. ที่พรรคนั้นได้มาจากการเลือกตั้งมิได้ได้มาจากเสียงข้างมากในสภา

(2) ส่วนพรรคการเมืองใดจะได้กรรมาธิการคณะใดในจำนวนทั้งหมด 35 คณะ ก็เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันของทุกพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. ในสภา จากนั้นพรรคการเมืองที่ได้สิทธิจะส่ง ส.ส. ของตนมาเป็นกรรมาธิการในคณะนั้นอันถือเป็นสิทธิของพรรคการเมืองที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม สมาชิกของพรรคการเมืองอื่นจะก้าวล่วงไม่ได้

(3) สำหรับการเป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละคณะนั้น เป็นไปตามข้อบังคับที่ 93 วรรคสาม คือ จะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภา ตำแหน่งประธานจึงเป็นโควต้าของแต่ละพรรคที่จะส่งใครมาเป็นก็ได้โดยพรรคการเมืองอื่นไม่มีสิทธิก้าวล่วง

สรุปแล้วสิทธิของ ส.ส. ที่จะได้เป็นกรรมาธิการคณะใดถือเป็นสิทธิของพรรคการเมืองต้นสังกัดที่ได้สิทธิไปตามข้อตกลงร่วมกันของทุกพรรคการเมือง หากจะมีการเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากข้อตกลงก็ต้องได้รับความยินยอมจากพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของสิทธิด้วย จะใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมาเปลี่ยนแปลงตามใจชอบไม่ได้ แบบนี้แหละที่เรียกว่าเผด็จการเสียงข้างมาก เลอะเทอะ.