โซเชียลฯกระหน่ำแชร์ ข้อคิดที่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ต้องอ่าน ‘ประชาธิปไตยไม่เดียงสา’

ขอบคุณรูปภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ขณะนี้สังคมออนไลน์ให้ความสนใจไปที่โพสต์ เรื่อง”ประชาธิปไตยไม่เดียงสา” ของผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “มนนิเทศ” ซึ่งโพสต์ไว้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมณูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่

โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระน่าสนใจดังต่อไปไปนี้

ประชาธิปไตยไม่เดียงสา

คือหลังๆผมไม่ค่อยอยากโพสอะไรที่มันเกี่ยวกับการเมืองเลยจริงๆ  เข้าเฟสบุคยังไม่อยากเข้าซะด้วยซ้ำ  แต่สองสามวันมานี่เพื่อนฝูงหลายคนมักจะถามไถ่ว่าคิดเห็นยังไงกับ  การแสดงออกของเหล่านักเรียนนักศึกษาที่กำลังทำอยู่ตอนนี้  ผมบอกไปว่า  ก็ไม่เห็นจะยังไงเลยปกติธรรมดาอย่างน้อยเด็กเหล่านี้ก็คือ  คนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไปในในอนาคต  การมีจิตสำนึกทางการเมืองตั้งแต่อายุยังไม่เยอะ  ก็พอจะคาดหวังได้ว่าบ้านเมืองเราก็คงจะพอไปได้  ถ้ามีแต่เด็กที่ไม่ใส่ใจอะไรเลย  วันๆเอาแต่คลั่งดารานักร้อง  หมกมุ่นแค่เรื่องส่วนตัว  แบบนั้นล่ะน่าเป็นห่วงกว่าว่ามั้ย?  

ดังนั้นไม่ต้องไปปิดกั้น  ไม่ต้องไปขัดขวาง  ปล่อยให้เขาได้แสดงออก  เพราะนี่คือเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย  อันเป็นสิทธิที่รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ  ตราบใดที่ยังไม่มีการล้ำเส้นของกฎหมาย  จะแฮชแถกแฮชแถประดิษฐ์คิดคำโก้เก๋  เพื่อให้มันฮ็อตฮิตติดเทรนด์อะไรก็ทำไป  แม้ผู้ใหญ่หลายคนจะรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเด็กๆเหล่านี้กำลังทำอยู่มันช่างเป็น  “ประชาธิปไตยไม่เดียงสา”  ก็ตาม

ความหมายของคำว่าเดียงสาคือ  รู้ผิดชอบตามปกติสามัญไม่เดียงสาก็คือ  ยังไม่รู้ผิดชอบนั่นแหละ  เอาแบบภาษาวัยรุ่นซักหน่อยก็น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า  หน่อมแน้ม  นั่นเอง  เด็กไร้เดียงสาก็คือ  เด็กที่ยังไม่รู้ผิดชอบตามปกติ  เวลาทำอะไรที่ผิดหรือพลาดไป  ผู้ใหญ่ก็มักจะไม่ถือโทษเพราะเดียงสาที่ยังไม่มี  ถ้าใช้คำนี้กับเด็กมันก็ออกจะฟังดูน่ารักอยู่  แต่ถ้าใช้คำนี้กับผู้ใหญ่ว่ายังไม่เดียงสานี่มันจะกลายเป็นการดูแคลนไปเลย  ดังนั้นน้องๆหนูๆก็อย่าให้ถูกดูแคลนได้ว่า  สิ่งที่กำลังทำกันอยู่นี่น่ะมันเป็น  ประชาธิปไตยไม่เดียงสา

เดียงสาหรือไม่เดียงสาเป็นยังไง  เริ่มต้นด้วยการตอบคำถามสามข้อนี้ก่อน

1.ตอบตัวเองว่าสิ่งที่เราทำนั้นเราทำด้วยเหตุผลอะไร  ตอบด้วยเหตุผลนะครับไม่ใช่ความรู้สึก  ถ้าตอบด้วยเหตุผลไม่ได้นั่นคือ  ไม่เดียงสา

2.ถามหรือเปิดใจรับฟังเหตุผลของคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา  แล้วตรึกตรองชั่งน้ำหนักกับเหตุผลของเรา  ถ้าไม่คิดที่จะเปิดใจรับฟังเหตุผลที่ต่างตัวเองได้  นั่นคือไม่เดียงสา

3.ตอบตัวเองว่าเราต้องการอะไรจากสิ่งที่กำลังทำอยู่  แล้วมันเป็นไปได้จริงหรือไม่  ถ้าตอบไม่ได้นั่นคือ  ไม่เดียงสา 

เอาล่ะถ้าตอบได้นั่นคือ  คุณเลือกแล้วที่จะทำตามสิ่งที่คุณคิด  ต่อไปเป็นข้อคิดเห็นจากคนที่เคยผ่านประสบการณ์แบบเดียวกับที่คุณกำลังทำอยู่

1.บอกพ่อแม่ถึงการตัดสินใจตัวเอง  ผมบอกพวกคุณเลยนะครับว่า  ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณ  คนที่จะช่วยคุณและอยู่ข้างคุณอย่างแท้จริงคือพ่อแม่เท่านั้น  ถ้าไม่กล้าแม้กระทั่งบอกพ่อแม่น่ะ  นั่นคือยังไม่เดียงสา

2.ถ้าคุณกำลังเชื่อว่าสิ่งที่พวกคุณกำลังทำน่ะมันคือพลังบริสุทธิ์จริงๆ  คุณจะต้องไม่ยอมให้มีนักการเมือง(และรวมถึงอดีตนักการเมือง) เข้ามาเกี่ยวข้อง  ผมกล้าบอกเลยด้วยว่าหลัง14 ต.ค.16 ทุกม็อบล้วนแล้วแต่เป็นม็อบการเมืองทั้งสิ้น  ทันทีที่มีนักการเมืองคุณต้องไล่มันออกไปแต่ถ้าคุณยอมรับมัน  คุณย่อมไม่อาจปฏิเสธคนที่เขาไม่เห็นด้วยกับพวกคุณว่า  มันไม่ใช่พลังบริสุทธิ์แล้ว  ถ้าคุณยังไม่คิดแบบนั้น  นั่นคือยังไม่เดียงสา

3.ถ้าคุณชุมนุมอยู่ในที่ตั้งคุณยังมีสิทธิอันชอบธรรม  แต่ทันทีที่คุณออกสู่สาธารณะคุณจะต้องทำตามพรบ.ชุมนุมในที่สาธารณะ(ซึ่งเป็นกฎหมายที่เมื่อก่อนไม่มี)  กฎหมายฉบับนี้ไม่เกี่ยวกับเผด็จการไม่เผด็จการ  เพราะหลายประเทศมีกฎหมายลักษณะนี้เหมือนกัน(แม้แต่สหรัฐอเมริกา  ที่หลายคนชื่นชมว่าสุดยอดประชาธิปไตยก็ด้วย)  ถ้าคุณยังไม่รู้นั่นคือยังไม่เดียงสา

4.การแสดงความคิดเห็นแสดงความรู้สึก  ด่าลุง  ด่านักการเมืองสามารถทำได้  แต่ถ้าคุณดูถูกดูหมิ่นศาลหรือกระบวนการยุติธรรม  (ที่ไม่ใช่เป็นการวิพากษ์ด้วยความสุจริต)  คุณกำลังเอาตัวเองไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย  ซึ่งกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองศาลและกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นหลักสากลของทุกประเทศในโลก  จะเซลฟงเซลฟี่

ทวีตทแวตอะไรก็ทำไป  แต่ถ้ามันบิดเบือนหรือใส่ร้าย  หมิ่นประมาทผู้อื่น  ก็ให้ศึกษาพรบ.คอมพิวเตอร์ให้ดีๆ  การใช้เสรีภาพจะต้องไม่เป็นการไปละเมิดผู้อื่นด้วย  ถ้าคุณไม่ทราบแสดงว่าไม่เดียงสา  และถ้าถูกดำเนินคดีก็อย่าอ้างว่าถูกรังแกกลั่นแกล้ง  หรือทำไปด้วยความไร้เดียงสาล่ะ

5.เมื่อพวกคุณมีม็อบต้านได้มันก็มีม็อบหนุนได้ข้อนี้คุณต้องทำใจยอมรับ  เมื่อคุณด่านักการเมืองหรือคนที่คุณเกลียดได้  คุณก็ต้องยอมรับคนที่ด่าบุคคลที่พวกคุณชื่นชอบได้เช่นกัน  และถ้าคุณแยกไม่ออกระหว่างตัวคุณกับคนที่คุณชื่นชอบ  นั่นคือคุณไม่เดียงสา

6.ประเด็นอ่อนไหวที่สุดคือ  ประเด็นสถาบัน  พึงหลีกเลี่ยงและอย่าให้ปรากฏ  คุณอาจไม่รักไม่ศรัทธา  แต่คุณก็ไม่มีสิทธิที่จะไปเหยียบย่ำหรือสร้างความไม่สบายใจต่อความศรัทธาของคนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก  ถ้าทำไม่ได้นั่นคือคุณไม่เดียงสา

7.ถ้าเริ่มต้นด้วยการแบ่งแยกเช่น  เราไม่ใช่สลิ่ม  หรืออะไรทำนองนี้  มันสะท้อนการตกเป็นเหยื่อวาทกรรม  แค่นี้คุณก็แพ้แล้ว  เพราะคุณกำลังทำให้คนที่ไม่เข้าร่วมกับคุณกลายเป็นคนอื่น  ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วยังแบ่งแยกกันเป็นพวกเราพวกเขา  คิดได้แค่นี้คือคุณไม่เดียงสา 

8.ทันทีที่การชุมนุมสู่ท้องถนน  คุณต้องเตรียมใจที่จะพบกับอะไรก็ได้ที่มันพร้อมจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  ไอ้ประเภทเกรียนคีย์บอร์ด  ร่างกายอยากปะทะแก๊สน้ำตาน่ะ  ถ้าเจอของจริงจะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องสนุกแต่อย่างใด  แม้ผมจะค่อนข้างเชื่อว่ารัฐบาลนี้คงไม่ทำอะไรรุนแรง  ประเภทชุมนุมไปเจอเอ็ม79 ไป  เจอแก๊สน้ำตายิงใส่กันตรงๆบ้าง  เจอระเบิดปาใส่บ้าง  แบบที่รัฐบาลโคตรประชาธิปไตยเคยทำกับผู้ชุมนุมมาแล้วก็ตาม  ถ้าคิดว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับตัวคุณแล้วหวังว่าจะมีใครมารับผิดชอบ  นั่นคือคุณไม่เดียงสา

9.ขอรูปธรรมข้อเรียกร้องที่พวกคุณต้องการหน่อยเถอะว่าคืออะไร  ทางเลือกตามระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี่น่ะมันมีทางเลือกคือ  1.ลุงตู่ลาออก  สภาก็เลือกนายกกันใหม่  ถ้าเป็นสส.ก็เช่น  อนุทิน  จุรินทร์  หรือมงคลกิตติ์  รับได้รึเปล่าล่ะ  หรือเอานายกคนนอกแล้วจะคือใครดี  ซึ่งถ้าเอาแบบนี้มันก็ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบที่ท่องๆกันด้วยสิ2.ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ทั้งๆที่เพิ่งเลือกกันไปไม่ถึงปี  เสียเงินกันอีกหลายพันล้าน  เอาก็เอาเพื่อประชาธิปไตย  แต่อย่าลืมนะมันก็เป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้  กติกาเลือกตั้งก็แบบเดิม  เพราะกฎหมายมันยังไม่ถูกแก้  เชื่อไหมล่ะครับว่าผลไม่ต่างจากนี้เท่าไหร่หรอก  แล้วสุดท้ายสภาก็เลือกลุงตู่อีก  ยอมรับกันได้มั้ยล่ะ  พรรคที่ถูกยุบไปก็ไม่ใช่จะฟื้นคืนชีพกลับมาได้  ตั้งพรรคใหม่แล้วถ้าเกิดนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิไปมายุ่มย่ามวุ่นวาย  เดี๋ยวก็มีคนร้องแล้วก็ถูกยุบอีกเพราะผิดกฎหมาย  จากนั้นก็มีม็อบไม่พอใจ  วนกลับมาที่เดิม  สองวิธีนี้คือว่ากันตามระบบเลยนะ  3.จลาจลนองเลือด  รัฐบาลอยู่ไม่ได้ลาออก  ตั้งนายกรักษาการจากนั้นยุบสภา  จะต้องเอาชีวิตเข้าแลกอีกแล้วเหรอ  ตั้งแต่ที่มีประชาธิปไตยในประเทศนี้เนี่ย  สังเวยชีวิตกันไปแล้วเท่าไหร่  แล้วท้ายสุดประชาชนเคยได้จริงมั้ย  4.หรือจะเอาแบบนอกระบบก็คือยึดอำนาจล้มรัฐธรรมนูญร่างกันใหม่  แล้วใครล่ะจะเป็นคนทำ  ก็ต้องทหารนั่นแหละที่ทำได้  มันก็วนลูปกันอยู่อย่างเงี้ย  ดังนั้นน้องๆหนูๆช่วยตอบลุงทีเถอะ  ถ้าตอบไม่ได้คือไม่เดียงสา

10.ข้อนี้แถม  ตอนอยู่ในม็อบก็คอยสังเกตให้ดีนะ  ถ้าเมื่อไหร่ที่เห็นว่ามีmen in black โผล่มาในม็อบ  ข้อแนะนำคือรีบเผ่นซะ  ถ้าไม่เชื่อ  ท้ายสุดคุณอาจกลายเป็นศพแบบไม่เดียงสา

ในฐานะที่ทุกวันนี้ทำงานกับเด็กและเยาวชนทำให้พอจะเข้าใจพวกเขาอยู่บ้าง  ผมเลยไม่คิดจะไปโกรธหรือเกลียดอะไรในสิ่งที่พวกเขากำลังทำ  นักการเมืองที่ต้องการแสวงหาอำนาจกับบรรดาพวกที่อ้างตัวเองว่าคือนักวิชาการบางตัว  ที่หวังแค่การตอบสนองความใคร่ทางความคิดความเชื่อของตน  โดยใช้ความไม่เดียงสาของเด็กเป็นเครื่องมือ  พวกนี้ต่างหากที่ผมชิงชัง.